โฆษก ทร. แจงยิบพบนายทหารสังกัดกองทัพเรือติดโควิด-19

 

พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า ตามที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวนายทหารเรือ ติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการท่องเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และเดินทางไปทอดผ้าป่าที่นครพนมโดยไม่มีการป้องกัน รวมทั้งต้นสังกัดไม่ได้กำกับดูแล นั้น กองทัพเรือขอชี้แจงในประเด็นดังกล่าวดังนี้

1. การจากสอบสวนทีมสอบสวนโรคของกรมแพทย์ทหารเรือ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 สรุปได้ว่า นายทหารของกรมอุทกศาสตร์ ชั้นยศนาวาเอก ได้ไปสถานที่ท่องเที่ยวเป็นร้านอาหารพร้อมดนตรีสดในย่านเอกมัย ชื่อร้านเดอะ คลาสเซ็ตต์ มิวสิค บาร์ ร่วมกับเพื่อนภายนอกกองทัพ ในคืนวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 ระหว่างเวลา 21.26 – 24.00 น. จึงได้เดินทางกลับไปโรงแรมบุญสิริ เพลส ณนนบูรณศาสตร์ เขตพระนคร หลังจากนั้นในระหว่าง 27 มีนาคม – 7 เมษายน 2564 ได้ดำเนินชีวิตตามปกติ

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ได้รับทราบจากเพื่อนภายนอกที่ไปเที่ยวด้วยกันว่า ติดโควิด จึงได้ไปตรวจหาเชื้อที่ โรงพยาบาลสมเด็จปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ในเช้าของวันที่ 9 เมษายน 2564 และทราบผลตรวจว่าติดเชื้อโควิดในเวลา 21.00 น.ของวันเดียวกัน โดยในวันต่อมา (10 เม.ย.64) ได้เข้ารักษาตัวที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ

สำหรับกรณีของนายทหารของกรมอุทกศาสตร์ ชั้นยศนาวาตรี ได้ไปสถานที่ท่องเที่ยวเป็นผับแห่งหนึ่งในย่านรัชดา ชื่อ ดูไบ เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 2 เมษายน 2564 ตั้งแต่เวลา 21.00 – 01.00 น. โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2564 ได้เดินทางไปทำงานปกติ จนกระทั่งเวลา 10.00 น. ได้รับการแจ้งจากเพื่อนคนหนึ่งที่ไปเที่ยวด้วยกัน เมื่อคืนวันที่ 2 เมษายน 2564 ว่า ติดเชื้อโควิด จึงได้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชา เพื่อมากักตัวเฝ้าดูอาการของตนเองภายในห้องพัก คอนโดมิเนียมย่านบางนา

ต่อมาในวันที่ 7 เมษายน 2564 เริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวแต่ยังไม่ไปพบแพทย์ จนกระทั่งวันที่ 8 เม.ย.64 เวลา 22.30 น. อาการไม่ดีขึ้น จึงได้ตัดสินใจไปพบแพทย์โดยขับรถส่วนตัวไปยังโรงพยาบาลปิยะเวท เพื่อให้แพทย์สอบถามอาการ ประวัติความเสี่ยง ตรวจหาเชื้อโควิด หลังจากนั้น จึงได้ขับรถส่วนตัวเดินทางกลับมายังห้องพัก เพื่อกักตัวรอผลการตรวจต่อไป และต่อมาในวันที่ 9 เมษายน 2564 ทางโรงพยาบาลปิยะเวท ได้แจ้งผลการตรวจว่า ติดเชื้อโควิด และส่งรถมารับ และส่งเข้ารับการรักษาต่อยังโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ

ทั้งนี้ นายทหารทั้ง 2 นาย ได้รายงานไทม์ไลน์ให้กรมอุทกศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยต้นสังกัดทราบ เพื่อให้กรมอุทกศาสตร์รายงานให้กับ ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินโควิด-19 กองทัพเรือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ (ศปก.ทร.) ทราบ รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งกำลังพลของ กรมอุทกศาสตร์ ที่มีโอกาสความเสี่ยงที่ไปสัมผัสตัว/อยู่ใกล้ชิด/อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับผู้ป่วยยืนยันดังกล่าว ให้รับทราบและกักตัวอยู่ที่บ้านรอการสอบสวนโรคจากกรมแพทย์ทหารเรือต่อไป

โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการสอบสวนโรค ทราบว่า สถานที่ท่องเที่ยวที่ทั้ง 2 นายทหาร ไปเที่ยว นั้น ไม่ใช่ผับหรูในย่านทองหล่อ ตามที่ปรากฏข่าวสารแต่อย่างใด รวมทั้งเมื่อทราบว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยยืนยันติดโควิด ก็ได้รีบเข้ารักษาตัว ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ในโอกาสแรก ตามไทม์ไลน์ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่ได้เดินทางไปไหนต่อยังต่างจังหวัดแต่อย่างใด โดยเมื่อกรมอุทกศาสตร์ได้รายงานให้กองทัพเรือ (ผ่านศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน COVID-19 กองทัพเรือ/ศปก.ทร.) เกี่ยวกับกรณีนายทหารของกรมอุทกศาสตร์ทั้ง 2 นาย ติดเชื้อโควิดทราบในวันที่ 10 เม.ย.64 แล้วนั้น

ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน COVID-19 ทร. ได้สั่งการให้ กรมแพทย์ทหารเรือ จัดทีมเข้าสอบสวนโรคต่อกำลังพลของกรมอุทกศาสตร์ เพื่อทำการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงสูง ซึ่งผลการสอบสวนและคัดกรองปรากฏว่ามีผู้มีความเสี่ยงสูงจำนวน 30 นาย และได้รายงานผลการสอบสวนให้ ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน COVID-19 ทร. ทราบในวันที่ 11 เมษายน 2564

ต่อมาในวันที่ 12 เมษายน 2564 ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน COVID-19 ทร. ได้สั่งการให้กลุ่มคนมีความเสี่ยงสูงดังกล่าว เดินทางไปกักตัวเฝ้าดูอาการ ณ อาคารรับรองสัตหีบ ภายในเวลา 16.00 น. ของวันเดียวกัน โดยให้กักตัวตั้งแต่ 12 – 23 เมษายน 2564 ซึ่งปัจจุบันผู้มีความเสี่ยงสูง 27 นาย ได้เดินทางไปกักตัว ณ อาคารรับรองสัตหีบ เรียบร้อยแล้ว

ยกเว้นกำลังพล 3 นาย ที่ขออนุญาตกักตัวอยู่ที่ภูมิลำเนาต่างจังหวัด และในส่วนของผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอีก 3 นาย ขออนุญาตกักตัวอยู่ที่ภูมิลำเนาต่างจังหวัด ได้แก่ นครพนม อุตรดิตถ์ และ สุราษฎร์ธานี เนื่องจากทั้ง 3 นาย ได้ขออนุญาตหน่วยต้นสังกัดเดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อเยี่ยมภูมิลำเนาบ้านเกิด ซึ่งมาทราบภายหลังว่า นายทหารชั้นยศนาวาเอก ที่เป็นผู้ยืนยันติดเชื้อโควิด ทราบผลในเวลา 21.00 น. ของวันที่ 9 เมษายน 2564 ซึ่งขณะนั้นกำลังพลทั้ง 3 นาย ได้เดินทางถึงภูมิลำเนาเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กำลังพลดังกล่าว 3 คน ได้ขอกักตัวเฝ้าดูอาการอยู่ที่ภูมิลำเนา ตั้งแต่ 10 – 23 เมษายน 2564 เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อในระหว่างเดินทาง โดยทั้ง 3 คนได้เข้าสู่มาตรการเฝ้าระวังของจังหวัด (ผ่าน อสม.) รวมทั้งทาง สจจ.แต่ละจังหวัด จะดำเนินการนำกำลังพลดังกล่าวตรวจหาเชื้อตามเวลาที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับกรณีที่มี นายทหารของกองทัพเรือ ในสังกัด กรมอุทกศาสตร์ ชั้นยศนาวาเอก เดินทางไปร่วมงานทอดผ้าป่าที่จังหวัดนครพนม และทราบภายหลังว่าติดเชื้อ COVID-19 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 นั้น เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ได้รับประทานอาหารกับผู้ติดเชื้อ (ทานแค่ผลไม้) ประมาน 1 ชั่วโมง จากนั้นได้ขอตัวเนื่องจากต้องเดินทางออกต่างจังหวัดเวลาประมาน 18.00 น. โดยลงเครื่องบินที่จังหวัดสกลนคร เพื่อเดินทางต่อมาที่ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม โดยรถยนต์ส่วนบุคคล เมื่อมาถึงบ้านที่อำเภอนาแก ได้แจ้งผู้ใหญ่บ้าน ให้ทราบว่าได้เดินทางเข้าพื้นที่ เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของ จังหวัด (การเดินทางสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา)

ต่อมาในวันที่ 9 เมษายน 2564 ได้เดินทางไปจังหวัดนครพนม เพื่อไปดื่มกาแฟและรับประทานอาหาร เป็นร้านปลาเผาไม่มีชื่อ แต่นั่งแยกโต๊ะ ไม่ได้เข้าไปในห้องแอร์แล้วกลับมาที่บ้านญาติที่ อำเภอนาแก เพื่อเตรียมจัดสถานที่ ทำผ้าป่าสามัคคี แล้วรีบกลับเข้ามาพักที่บ้าน หลังจากทราบว่า ได้ร่วมรับประทานอาหารกับผู้มีเชื้อโควิด

โดยในวันที่ 10 เมษายน 2564 อสม.ได้เข้ามาสอบถามประวัติ ถ่ายรูป วัดอุณหภูมิ ตามขั้นตอน และวันที่ 11 เมษายน 2564 ได้เดินทางไปร่วมงานถวายผ้าป่า ที่วัดศรีจำปาบ้านช่ง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม (นั่งอยู่ข้างนอก ที่โล่งแจ้ง ไม่ได้เข้าไปในพระอุโบสถ) และสวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลา จากนั้นได้ กักตัวอยู่ที่บ้านพักตลอดเวลาเพื่อสังเกตุอาการ โดยมี อสม.มาตรวจสุขภาพ โดยในวันนี้ (13 เม.ย.64) ทางสาธารณสุขจังหวัด นครพนม ได้ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อหาเชื้อโควิด ซึ่งจะทราบผลภายใน 48 ชั่วโมง

กองทัพเรือ ขอแสดงความเสียใจในการที่กำลังพลของกองทัพเรือ ได้มีส่วนทำให้มีการแพร่เชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้นและจะตั้งกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าว หากพบว่ามีการละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลและกองทัพเรือแล้วจะดำเนินการลงโทษโดยไม่ละเว้น

ก่อนหน้านี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งการให้หน่วยต่างๆ ในกองทัพเรือ เตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ โดยเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล/สถานพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม เพิ่มเติมเพื่อรองรับการแพร่ระบาด และยังให้จัดตั้งคลินิกให้บริการวัคซีน โควิด ให้กับกำลังพล และประชาชนทั่วไป มีการจัดทีมสอบสวนโรค เมื่อพบผู้ป่วยต้องสงสัยในพื้นที่ที่กองทัพเรือรับผิดชอบ และให้มีการจัดทีมคัดกรอง และตรวจ เมื่อได้รับการประสานให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมกับหน่วยงานภายนอก

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวต่อไปว่า ผู้บัญชาการทหารเรือ เน้นย้ำให้ข้าราชการกองทัพเรือ เพิ่มความระมัดระวังทั้งแก่ตนเองและสมาชิกในครอบครัวในช่วงสถานการณ์การแพร่ ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อ COVID-19 โดยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่รัฐบาลกำหนด และมาตรการเพิ่มเติม 18 ข้อ ตามที่ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งการ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.64 ที่ผ่านมา โดยอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 เม.ย.64 ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กองทัพเรือ ได้แจ้งไปยังหน่วยขึ้นตรงของกองทัพเรือ ให้กำลังพลได้รับทราบและเข้มงวดและกวดขันการตรวจการตามแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในห้วงเทศกาลสงกรานต์ ของ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง รวมถึง ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ โดย ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน COVID-19 ทร. ได้ออกมาตราการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในห้วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อเน้นย้ำการปฏิบัติตัวของกำลังพลกองทัพเรือในระหว่างวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

ทั้งนี้ สำนักตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้ใช้ โรงพยาบาล สนาม ในพื้นที่กองทัพเรือ ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (เกล็ดแก้ว จังหวัดชลบุรี) หน่วยบัญชาการกองพลนาวิกโยธิน (ค่ายมหาเจษฎาฯ จังหวัดชลบุรี) และ สนามฝึก กองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี (รวมจำนวนเตียงทั้งหมด 726 เตียง) นับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ปัจจุบัน (13 เม.ย.64) ได้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัว ณ โรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (เกล็ดแก้วจังหวัดชลบุรี) จำนวน 193 ราย (ผู้ชาย 90 ราย และผู้หญิง 103 ราย) ยังคงเหลือจำนวน 533 เตียง

Related posts