มทรส.กวาดรางวัลโครงการเทคโนโลยีสู่ชุมชนช่วยเศรษฐกิจฐานราก

 

นายธีรพล ขุนเมือง อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทรส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า มทรส.มีความมุ่งมั่นในการจัดการศึกษาเพื่อผลิตกำลังคน ด้านวิชาชีพ และเทคโนโลยีที่มีความพร้อมในการประกอบอาชีพ ควบคู่กับการพัฒนาขีดความสามารถในการบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนและสถานประกอบการ โดยคณาจารย์และนักศึกษา ออกไปปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อเพิ่มศักยภาพนักศึกษาสู่การเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่มีความรู้รักสู้งาน

โดยแต่ละปีจะมีโครงการวิจัยลงสู่พื้นที่ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก และจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “คลินิกเทคโนโลยีขับเคลื่อน กระทรวงการอุดมศึกษาฯ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก รายจังหวัด ภาคกลาง และภาคตะวันออก” ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน 2564 ได้มีการมอบรางวัล Popular vote แก่โครงการต่างๆ ที่นำเสนอด้วย โดยมีสถาบันการศึกษาร่วมส่งโครงการ 5 แห่ง จำนวน 10 โครงการ ในส่วนของมทรส.นำเสนอ 5 โครงการ ปรากฏว่าโครงการของ มทรส. ได้รับรางวัล Popular vote ในอันดับที่ 1 ที่ 2 และอันดับที่ 3

โดยอันดับที่ 1 ได้แก่ โครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเลี้ยงปลาช่อนแบบครบวงจร บ้านห้วยคันแหลน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง โดยรองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา อิสเหาะ และคณะ โครงการนี้ภายใน 2 ปี สามารถช่วยเกษตรกรปลดหนี้กว่า 10 ล้านบาท

โครงการอันดับที่ 2 ได้แก่ โครงการหมู่บ้านวิถีวิทย์กุ้งก้ามกรามองครักษ์ ตำบลองครักษ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ในส่วนของโครงการนี้สามารถสร้างเงินหมุนเวียนให้แก่กลุ่ม เดือนละกว่า 3 ล้านบาท

โครงการลำดับที่ 3 ได้แก่ โครงการหมู่บ้านมันเทศหวานบ้านทับน้ำ ตำบลทับน้ำ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ดำเนินการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาขวัญ ทองรักษ์ และคณะ จากคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

รองศาสตราจารย์ ดร.ประมุข อุณหเลขกะ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของคณะฯ นอกจากทำงานร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อลดต้นทุนการผลิตแล้วยังมอบหมายให้สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ลงสู่ชุมชนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่เศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปด้วยภายใต้ “โครงการสร้างนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ของกลุ่มไทยพวนและสื่อเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนบ้านเขาพระ ด้วยกระบวนการแบบมีส่วนร่วม” เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากเมืองรอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีหัวหน้าโครงการ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วารุณี ศรีสงคราม ซึ่งโครงการนี้ ดำเนินการ มาตั้งแต่ปี 2563 แล้วเสร็จ เมื่อ มีนาคม ปี 2564 จากผลการดำเนินงาน พบว่า สื่อเผยแพร่การท่องเที่ยวและข้อมูลในชุมชนผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เกิดกลุ่มนักท่องเที่ยวชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 50

ในส่วนของนวัตกรรมงานด้านหัตถกรรมช่วยให้กลุ่ม ผลิตวัตถุดิบหรือตอกเพื่อใช้งานจักสาน ได้ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ใน 1 วันเมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคน ทำให้เกิดรายได้จากหัตถกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 เมื่อประเมินรายได้รวมของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายในชุมชนแห่งนี้พบว่ามีมูลค่าเท่ากับ 6,840,000 บาท (หกล้านแปดแสนสี่หมื่นบาท) ต่อปี ซึ่งช่วยยกระดับรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 4.91 เท่าจากรายได้เดิม 1,392,000 บาท ต่อปี ประการสำคัญทุกชิ้นงานมีผลการประเมินค่าเฉลี่ยความพึงพอใจ อยู่ในระดับร้อยละ 95 ซึ่งการดำเนินกิจกรรมลักษณะนี้นักศึกษาจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งที่ได้สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนมีความพร้อมที่จะประกอบอาชีพเมื่อจบการศึกษา ไม่ว่าจะทำงานในสถานประกอบการหรือประกอบอาชีพอิสระก็ตาม

Related posts