รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ต้อนรับ รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 นำชมโครงการ “เรือรบปลอดเชื้อ” ดูการติดตั้งหลอด UVC บน ร.ล.นเรศวร
พล.ร.ท.สมัย ใจอินทร์ รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ พล.ร.ต.พัลลภ เขม้นงาน รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในการเข้าชมเรือที่เข้าโครงการ “เรือรบปลอดเชื้อ” ซึ่งได้ทำการติดตั้งหลอด UVC เครื่องอบโอโซนแล้ว โดยมี น.อ.ทรงวิทย์ เรืองไวทย ผบ.ร.ล.นเรศวร ให้การต้อนรับ และนำชมการดำเนินการติดตั้งระบบของ ร.ล.นเรศวร ณ ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
ความเป็นมาของโครงการ “เรือรบปลอดเชื้อ” เกิดจาก ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น พบว่า เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯและของฝรั่งเศส ตลอดจนเรือรบอื่นๆ รวมถึงเรือท่องเที่ยวในต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดใช้ระบบปรับอากาศรวม เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสภายในเรือ กองทัพเรือจึงเกิดแนวความคิดที่จะป้องกันเรือรบของกองทัพเรือไทยหากต้องประสบปัญหาการติดเชื้อ COVID-19 จะส่งผลต่อกำลังพลประจำเรือและครอบครัว ความพร้อมรบ และความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจ
โดยการดำเนินโครงการนี้ พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกิจการพลเรือน ได้หารือกับ พล.ร.ท.สมัย ใจอินทร์ รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เพื่อนำอุปกรณ์เครื่องฆ่าเชื้อในอากาศที่ติดตั้งให้โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ตั้งคณะทำงานป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคทางระบบปรับอากาศศึกษา เพื่อติดตั้งในเรือ ซึ่งใช้ระบบปรับอากาศรวมเช่นเดียวกับโรงพยาบาล โดยอุปกรณ์ดังกล่าว เป็นหลอด UVC ที่นำมาประยุกต์ใช้กับเรือรบ และเครื่องฟอกอากาศด้วยแสง UV (UV GERMICIDAL AIR PURIFIER) และได้ทำการติดตั้งระบบดังกล่าวบน ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นเรือต้นแบบ ทำการทดลองใช้งานจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ภายหลังจากติดตั้งระบบแล้ว ได้ออกทะเลไปภารกิจเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน ปรากฏว่าไม่มีกำลังพลป่วย หรือติดเชื้อโรคในทางเดินอากาศ อีกทั้งลดปริมาณสารเคมี ไอเสียจากเครื่องยนต์ และสารระเหยอื่นๆ ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในเรือ รวมทั้งกลิ่นอาหาร กลิ่นอับจากความชื้นที่เกาะอยู่ตามผนังและแผงความเย็นในระบบปรับอากาศอีกด้วย
ต่อมาเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระลอกที่ 2 ทำให้เรือรบสมรรถนะสูง และเรือรบขนาดใหญ่ ที่มีกำลังพลปฏิบัติงานเรือเป็นจำนวนมาก ขอรับการสนับสนุนการติดตั้งมากขึ้น จึงได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จจำนวน 7 ลำประกอบด้วย ร.ล.จักรีนฤเบศร, ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช, ร.ล.มกุฎราชกุมาร, ร.ล.นเรศวร, ร.ล.ตากสิน, ร.ล.กระบุรี, ร.ล.บางปะกง และอยู่ระหว่างการติดตั้งอีก 2 ลำ คือ ร.ล.อ่างทอง และ ร.ล.สิมิลัน ทั้งนี้จากภารกิจในการฝึกภาคทะเลของนักเรียนนายเรือ มีเรือเข้าร่วมในหมู่เรือฝึก ประกอบด้วย ร.ล.นเรศวร ร.ล.บางปะกง และ ร.ล.มกุฎราชกุมาร ที่ทำการติดตั้งระบบฆ่าเชื้อดังกล่าวแล้ว ไม่พบกำลังพล ประจำเรือ รวมถึงนักเรียนนายเรือที่เข้าร่วมฝึกป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ นอกจากนั้นยังสามารถขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์อาทิ ควันน้ำมันให้ลดลงได้อีกด้วย
ปัจจุบันหลอด UVC ที่ติดตั้งภายในเรือเพื่อฆ่าเชื้อ แม้ว่าจะมีจำหน่ายโดยทั่วไป แต่ไม่ใช่ว่าจะติดตั้งได้โดยทั่วไป ซึ่งแม้ว่าจะมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโรคต่างๆ รวมถึง รา เส้นใย ยีสต์ ได้ในระดับพื้นผิว ซึ่งในวงการวิทยาศาสตร์จะนิยมเรียกกันว่า Ultraviolet Germicidal Irradiation (UVGI) โดยแสงจากหลอด UV ฆ่าเชื้อ นี้จะทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียโดยรอบ หยุดทำงาน ดังนั้นหลอดไฟฆ่าเชื้อนี้ จึงช่วยกำจัดหรือช่วยทำลายไวรัส และแบคทีเรียบนพื้นผิวที่เป็นอันตรายต่อร่างกายผู้ป่วยให้มีจำนวนลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามผล ยังมีข้อควรระวังในการใช้งาน
เนื่องจาก หลอด UVC มีความยาวคลื่นอยู่ที่ประมาณ 200-280 นาโนเมตร ซึ่งเป็นรังสีที่ค่อนข้างเป็นอันตรายต่อร่างกายถ้าหากกระทบผิวหนังตรงๆ เป็นระยะเวลานาน เพราะอาจจะเป็นสาเหตุทำให้ผิวหนังไหม้ หรือสามารถทำให้เยื่อบุตาอักเสบได้ ซึ่งถ้าได้รับแสงรังสี UVC มากเกินไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ โดยในส่วนของการติดตั้งบนเรือนั้นใช้หลอด UVC ติดตั้งกับระบบปรับอากาศรวมของเรือซึ่งอยู่ภายในเครื่องปรับอากาศ ภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ดังนั้นหากประชาชนทั่วไปจะนำไปประยุกต์ใช้ ควรระมัดระวังและศึกษาข้อมูลก่อนนำไปใช้งาน