มทรส.เจ๋ง ผลิตชิ้นส่วนตะแกรงร่อนเศษแก้ว ช่วย สปก.ขาดแคลนชิ้นส่วนในช่วงโควิด-19 ระบาด

นายธีรพล ขุนเมือง อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทรส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ มทรส.เน้นพัฒนาจัดการศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนเพื่อให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติที่เป็นคนดีมีความรู้ รักสู้งาน เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศด้านเทคโนโลยีชั้นสูง นั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นคณะหนึ่งในหลายคณะ ซึ่งผลิตกำลังคนด้านนี้ โดยมีหลากหลายสาขาวิชาที่จัดการเรียนการสอนในส่วนนี้ พร้อมมีการจัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีแม่พิมพ์ (Tool and Die Technology Center; TDTC)”

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้บริการงานวิชาการ งานวิจัย และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีแม่พิมพ์ให้แก่ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงงานบริการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมให้แก่ภาคอุตสาหกรรม โดย TDTC ตั้งอยู่ที่สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือและแม่พิมพ์ เป็นองค์กรในฐานะ “ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านแม่พิมพ์ปั๊มตัดโลหะ” ของ สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) กระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นสมาชิกของสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย (TDIA) รวมถึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะวิชาชีพจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) เพื่อทำหน้าที่ทดสอบสมรรถนะบุคคลในอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ สาขางานแม่พิมพ์โลหะ อาชีพช่างผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์แม่พิมพ์ปั๊มโลหะ

รองศาสตราจารย์ ดร.ประมุข อุณหเลขกะ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทรส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ศูนย์ฯ แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน (Talent Mobility) และ ในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ทำการวิจัยในหัวข้อ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตชิ้นงานตะแกรงร่อนเศษแก้วเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ”

โดย ดร.ณัฐชานันท์ อังศุเศรณี ซึ่งเป็นการบริการวิชาการภายใต้การทำวิจัยให้แก่ บริษัท สยามคัลเล็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตวัตถุดิบแก้วรีไซเคิลในเครือของ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกับสถานประกอบการจากภาคอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วนตะแกรงร่อนเศษแก้วซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้การขนส่งสินค้าที่ต้องหยุดชะงักไปและไม่สามารถนำเข้าชิ้นส่วนได้ตามเวลาที่ต้องการ สถานประกอบการจึงมีความต้องการให้ TDTC ดำเนินการวิจัยและทดลองผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวร่วมกับ บริษัท ไทยรับเทค จำกัด เพื่อแก้ปัญหาและลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ จากผลการวิจัยพบว่า ชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นมีคุณภาพและประสิทธิภาพเท่าเทียมกับชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้สามารถใช้ทดแทนชิ้นส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ ส่งผลให้สถานประกอบการสามารถแก้ปัญหาชิ้นส่วนขาดแคลนได้ และประการสำคัญมีราคาผลิตชิ้นส่วนต่อหน่วยต่ำกว่าชิ้นส่วนต่างต่างประเทศอยู่ร้อยละ 30 ทำให้สถานประกอบการสามารถลดต้นทุนการผลิตของสถานประกอบการ (สปก.)

และลดการนำเข้าสินค้ามาเพื่อเก็บเป็นวัสดุคงคลังได้อีกด้วย และจากการดำเนินงานข้างต้นส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่น ต่อทีมงานคณาอาจารย์ของ มทรส. และเชื่อมั่นต่อนักศึกษาที่ได้มีส่วนร่วมทำงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมด้วยทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัยอีกทางหนึ่งนอกจากงานวิจัยชิ้นนี้แล้ว ภายใต้ ศูนย์ฯ นี้ ยังมีงานวิจัยอื่น ๆ ที่ช่วยให้สถานประกอบการ ลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศลดต้นทุนการผลิตได้อีก อาทิการผลิตชิ้นส่วนชุดลำเลียงขวดแก้ว ของ ดร.ภาสพิรุฬห์ วัชระศรีสำเริง ซึ่งสามารถ ลดราคาต่อชุด ต่ำกว่าร้อยละ 50 เป็นต้น

Related posts