“กรมราชทัณฑ์” ร่วมหารือ “กสม.” ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อการเข้าถึงสิทธิการรับบริการสุขภาพในสถานการณ์โควิด-19
วันนี้ (11 มิ.ย.64) ที่ห้องประชุม กรมราชทัณฑ์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อหารือประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในเรือนจำ/ทัณฑสถาน โดยมีนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายบุญเกื้อ สมนึก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางหรรษา บุญรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และหัวหน้าส่วนราชการกรมราชทัณฑ์ ร่วมหารือ
โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากการหารือ เรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ในเรือนจำ/ทัณฑสถานของกรมราชทัณฑ์ภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ เห็นว่ากรมราชทัณฑ์สามารถดำเนินการโดยคำนึงถึงสิทธิผู้ต้องขัง และมีระบบบริหารจัดการที่ดีและมีคุณภาพ จึงขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป ในส่วนประเด็นที่จะติดตามจะเป็นเรื่องการดำเนินงานระยะยาวในเรื่องการลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ผ่านวิธีการในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือก นอกจากนี้ต้องหารือกับหลายหน่วยงานในเรื่องการขาดแคลนบุคลากร รวมทั้งกระบวนการทางสังคมเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้พ้นโทษกลับมากระทำผิดซ้ำ
ส่วนนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการเข้าถึงวัคซีนและการดูแลรักษาผู้ต้องขังแต่จากการรับฟังสถานการณ์การดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ พบว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถลดจำนวนผู้ต้องขังที่ติดเชื้อได้เยอะ และเน้นเรื่องสิทธิให้แก่ผู้ต้องขังโดยรวม และในโอกาสต่อไปจะพิจารณาในเรื่องผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ เพิ่มเติม
ด้านนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับความอนุเคราะห์จาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดสรรวัคซีนให้แก่ผู้ต้องขัง จำนวน 40,000 โดส และได้จัดทำแผนการกระจายวัคซีนส่งมอบไปยังเรือนจำ/ทัณฑสถานที่อยู่ในพื้นที่สีแดง และกระจายไปยังเรือนจำในเขตต่าง ๆ ที่มีผู้ต้องขังหนาแน่น โดยกรมควบคุมโรค จะจัดส่งวัคซีนมาที่กรมราชทัณฑ์ตามจำนวนที่ได้ขอรับการจัดสรรเพื่อให้ ครอบคลุมผู้ต้องขังทั้งหมด รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 80% ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด
“ในส่วนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ขณะนี้มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น มีเรือนจำสีแดงที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อ จำนวน 12 แห่ง และมีเรือนจำสีขาวประมาณ 129 แห่ง นอกจากนี้ ได้มีการตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ หรือ ศบค.รท. เพื่อติดตามจำนวนผู้ต้องขังที่ติดเชื้อและผู้ต้องขังที่รักษาหายเป็นรายวัน พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายเพื่อลดการเสียชีวิต โดยจะเน้นการคัดกรองผู้ติดเชื้อให้เร็ว เมื่อพบจะทำการคัดแยก พร้อมทั้งเอ็กซเรย์และให้ยาเพื่อทำการรักษา อีกทั้งมีการจัดประเภทสีของผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเพื่อลดการสูญเสีย ให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว โดยผู้ต้องขังติดเชื้อในกลุ่มสีเหลืองกับสีแดงจะถูกแยกออกมารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลเรือนจำกลางบางขวาง ในส่วนผู้ต้องขังติดเชื้อกลุ่มสีเขียวจะรักษาที่โรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ในแต่ละเรือนจำ” นายอายุตม์ กล่าว
นายอายุตม์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ในขั้นตอนการดูแลก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขัง จะต้องตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนปล่อย โดยหากครบกำหนดปล่อยตัวแล้ว พบว่าผู้ต้องขังรายใดติดเชื้อหรืออยู่ระหว่างการรักษา จะประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อรับตัวไปรักษาต่อ หากไม่สามารถส่งตัวไปรักษาต่อได้ ทางเรือนจำ/ทัณฑสถานได้จัดเตรียมสถานที่กักตัวเพื่อดูแลจนหายจากอาการป่วย แต่ถ้าไม่พบเชื้อสามารถให้ญาติมารับกลับได้ รวมทั้งยังมีการปรับปรุงห้องกักโรคเพื่อให้มีมาตรฐานมากขึ้นสำหรับรองรับผู้ต้องที่เข้าใหม่ในทุกวัน อีกทั้งได้รับความกรุณาจากศาลยุติธรรมในการอนุเคราะห์เรื่องการให้การประกันตัว และปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งจะสามารถลดปริมาณผู้ต้องขังได้อีกทางหนึ่ง
“และในอนาคตกรมราชทัณฑ์ต้องประสานปรึกษากับกรรมการสิทธิมนุษยชนแต่ละด้าน ในการเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เข้าสู่สากลตามข้อกำหนดแมนเดลา หรือ Mandela Rules ทั้งในเรื่อง สิทธิทางกฎหมาย การเข้าถึงการร้องทุกข์ การเข้าถึงการรับบริการทางการแพทย์และด้านสุขภาวะ ซึ่งหากทำได้จะทำให้เรือนจำ/ทัณฑสถานในประเทศไทยเข้าสู่หลักสากลทันที และเป็นการยกระดับกระบวนการยุติธรรมและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้ดีที่สุด” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว