กองเรือยุทธการ ร่วมทดสอบการปฏิบัติการของอากาศยานไร้คนขับ MARCUS ที่พัฒนาโดย สวพ.ทร. เตรียมนำมาใช้ในภารกิจรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม รองผู้บัญชาการทหารเรือ ชมการสาธิตการปฏิบัติการของอากาศยานไร้คนขับที่ดำเนินการพัฒนาโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ (สวพ.ทร.) ภายใต้ชื่อโครงการอากาศยานไร้คนขับเพื่อการลาดตระเวนทางทะเล กองทัพเรือ (Maritime Aerial Reconnaissance Craft Unmanned System:MARCUS) โดยมี พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ, พล.ร.ท.โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1, พล.ร.ต.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ, พล.ร.ต.อาภา ชพานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ ตลอดจนผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ บน ร.ล.อ่างทอง ท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
โดยกำหนดสถานการณ์สมมติเป็นการปฏิบัติของ ศรชล.ภาค 1 สั่งการให้ ร.ล.อ่างทอง ที่กำลังลาดตระเวนในพื้นที่รับผิดชอบ ค้นหา พิสูจน์ทราบ และจับกุมเรือต้องสงสัยว่าจะลักลอบนำเข้าสารอันตรายเพื่อใช้สร้างสถานการณ์ในพื้นที่สำคัญทางภาคตะวันออก ต่อมา ร.ล.อ่างทอง ได้ตรวจพบเรือ 1 ลำ มีพฤติกรรมต้องสงสัย จึงใช้ MARCUS เข้าพิสูจน์ทราบ ก่อนที่จะส่งชุดตรวจค้นเข้าปฏิบัติการต่อไป
จากวัตถุประสงค์ในการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ MARCUS ตามที่ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในวงเงิน 10 ล้านบาท ที่ได้ทำการพัฒนาให้มีขีดความสามารถ ขึ้น-ลงในพื้นที่จำกัด (ทางดิ่ง) ที่อากาศยานแบบปีกนิ่งทั่วไปไม่สามารถทำได้ และพัฒนาระบบควบคุมและสั่งการทางยุทธวิธีทางอากาศ (Tactical-Based Aerial Command Control System:TBACCS) ให้สามารถสั่งการพ้นระยะสายตา หรือในบริเวณจุดอับสัญญาณของการสื่อสารได้
การสาธิตในครั้งนี้ ได้นำกล้องตรวจการณ์ของ UAV นารายณ์ ติดตั้งเข้ากับระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับเป้าในทะเลอีกด้วย ซึ่งการปฏิบัติการในครั้งนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คุณลักษณะของอากาศยานไร้คนขับ MARCUS ประกอบด้วย ความกว้างปีก 3.4 เมตร น้ำหนักขึ้นบิน 24 กิโลกรัม ความเร็ว ประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาปฏิบัติการบนอากาศ ประมาณ 1 ชั่วโมง ระยะบินไกลสุด 15 กิโลเมตร และกำลังพัฒนาในรุ่นต่อไปให้สามารถบินได้ไกลสุด 40 กิโลเมตร
อากาศยานไร้คนขับ MARCUS ได้ผ่านการทดสอบทดลองจากหน่วยปฏิบัติงานทั้งทัพเรือภาค, ศรชล.เขต และหน่วยบิน ว่าสามารถสนับสนุนการปฏิบัติการตรวจสอบและถ่ายภาพเป้าหมายในทะเล ได้ตามวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตามเพื่อให้ MARCUS มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาระยะเวลาในการปฏิบัติงานในอากาศให้ได้มากกว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งคณะวิจัยฯ กำลังดำเนินการปรับโครงสร้างลำตัว, เพิ่มประสิทธิภาพของแบตเตอรี่และอื่นๆ เพื่อให้ MARCUS สามารถตอบสนองความต้องการทางยุทธวิธีได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นต้นแบบงานวิจัยที่จะสามารถนำเข้าสู่สายการผลิตให้แก่กองทัพเรือ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากจะเปรียบเทียบ MARCUS ที่กองทัพเรือวิจัยจนเป็นผลสำเร็จในครั้งนี้สามารถเทียบคุณสมบัติได้ใกล้เคียงกับอากาศยานไร้คนขับแบบ ORBITER-3B ที่กองทัพเรือจัดหาจากประเทศอิสราเอล โดยปล่อยยิงแบบ Launcher ในวงเงิน 50 ล้านบาท ต่อ 1 ชุด (อากาศยาน 1 เครื่อง และชุดควบคุม 1 ชุด) แต่ MARCUS จะใช้งบประมาณในการผลิตเพียงไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อชุด อีกทั้งยังสามารถขึ้นลงทางดิ่งที่จะสามารถตอบสนองการปฏิบัติการร่วมในทะเล ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
อากาศยานไร้คนขับ MARUS จะถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของงานวิจัยที่เข้าสู่สายการผลิต ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปี งบประมาณ 64 ที่มอบให้ว่า “ขับเคลื่อนงานวิจัยของกองทัพเรือให้สามารถนำไปสู่ภาคการผลิต และเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม”