ศรชล. ขอความร่วมมืองดจับ “ฉลามหูดำ” ยันสำคัญต่อระบบนิเวศ

 

ศรชล. ขอความร่วมมือชาวประมง/ผู้ประกอบกิจการประมง งดจับปลาฉลามหูดำ แจงแม้ไม่อยู่ในบัญชีสัตว์สงวนหรือสัตว์คุ้มครองแต่สำคัญต่อระบบนิเวศ

วันนี้ (19 มิ.ย.64) เวลา 18.00 น. พลเรือตรี ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าตามที่ พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (รอง ผอ.ศรชล.) ได้สั่งการให้ พลเรือเอก ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใน ศรชล. บูรณาการเพื่อที่จะดำเนินการตามมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน นั้น

ล่าสุด โฆษก ศรชล. แจ้งว่า พลเรือโท เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3/ผอ.ศรชล.ภาค3 ได้สั่งการให้ศูนย์ควบคุมท่าเรือ จังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตตรวจสอบร่วมกับประมงจังหวัดภูเก็ต ด่านตรวจประมงภูเก็ต และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลภูเก็ตและชายฝั่งทะเล โดยในเบื้องต้นได้รับรายงานว่า ปลาฉลามหูดำดังกล่าวมาจากการทำการประมงเบ็ดราวหน้าดินของเรือประมงพื้นบ้าน (ต่ำกว่า 10 ตันกรอส) ซึ่งเป้าหมายหลักของการทำการประมงคือปลาเก๋า แต่เนื่องจากช่วงเดือน มกราคมถึงเดือนมิถุนายน เป็นช่วงเวลาที่ฉลามหูดำเคลื่อนที่เข้ามาบริเวณที่ชาวประมงวางเบ็ดราว จึงทำให้ติดปลาฉลามหูดำเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ฉลามหูดำไม่ใด้บรรจุอยู่ในบัญชีสัตว์สงวนหรือสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติ และการทำการประมงไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่คุ้มครองทางทะเล และเมื่อไม่เป็นสัตว์คุ้มครองจึงสามารถจำหน่ายได้ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะได้สำรวจและผลักดันสัตว์ทะเลชนิดสำคัญ รวมถึงฉลามหูดำเพื่อบรรจุในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ต่อไป

โฆษก ศรชล. ยังกล่าวต่อไปว่า แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากระทำดังกล่าวแม้จะไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากฉลามหูดำไม่อยู่ในบัญชีสัตว์สงวนหรือสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติ แต่ปลาฉลามนั้นสำคัญต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารทางทะเล และยังสำคัญต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ที่กำลังจะเปิดรับนักท่องเที่ยว (Phuket Sandbox) จึงต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ และขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการและประสานการปฏิบัติ โดยลงพื้นที่สำรวจและเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจขอความร่วมมือชาวประมง และผู้ประกอบกิจการประมง ให้ช่วยกันลดหรือห้ามจับปลาฉลาม เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจังหวัดภูเก็ต รวมถึงสร้างเครือข่ายในพื้นที่อย่างจริงจังและทั่วถึง อีกทั้งเร่งหาแนวทางประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับชาวประมง ผู้ประกอบกิจการประมง ประซาชน และนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศและจังหวัดที่กำลังจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่อไป

Related posts