ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลงน้ำ (เรือ ต.997 – ต.998) ณ อู่ต่อเรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
วันนี้ (21 มิ.ย.64) เวลา 14.20 น. พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลงน้ำ (เรือ ต.997 – ต.998) ณ อู่ต่อเรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นางจุฬารัตน์ ศรีวรขาน นายกสมาคมภริยาทหารเรือ ในฐานะภริยาผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ โอกาสนี้ พลเรือเอก วศินสรรพ์ จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง นายภัทรวิน จงวิศาล ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารบริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ และข้าราชการในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมในพิธี
กองทัพเรือ ได้อนุมัติให้จัดสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 – ต.998 จำนวน 2 ลำ เพื่อรองรับการปฏิบัติภารกิจของกองทัพเรือ ตามนโยบายการพัฒนากองทัพ และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ ซึ่งโครงการนี้กองทัพเรือได้ว่าจ้างให้บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ โดยความเป็นมาของการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งนั้น เริ่มจากการที่ กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพระราชทานพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ เพื่อการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ นับตั้งแต่การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.91 ถึงเรือ ต.99 จำนวน 9 ลำ ระหว่างปี พ.ศ.2510 – 2530 อันเป็นการดำเนินโครงการของกองทัพเรือ ตามพระราชดำริของพระองค์
โดยกองทัพเรือ ได้จัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเรือชุด ต.991 – ต.993 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ.2550 ซึ่งโครงการนั้นประสบความสำเร็จด้วยดี ต่อมาในปี พ.ศ.2552 กองทัพเรือจัดทำโครงการการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ชุดเรือ ต.994 – ต.996 ด้วยเป็นการสนองพระราชดำริ ในเรื่องการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานทั้งพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ ซึ่งโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติฯ ชุดเรือ ต.994 นี้ได้สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2554 และสามารถปฏิบัติงานตอบสนองต่อภารกิจได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ในการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.991 และ ชุดเรือ ต.994 ครั้งนั้น บริษัทมาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ได้ผ่านการคัดเลือกและได้รับความไว้วางใจจากกองทัพเรือให้เป็นผู้จัดส่งวัสดุและอุปกรณ์ให้กับกรมอู่ทหารเรือดำเนินการสร้างเรือ ต.991 และ ต.994 ณ อู่ทหารเรือธนบุรี และบริษัทมาร์ซันฯ เป็นผู้สร้างเรือ ต.992 – ต.993 และเรือ ต.995 – ต.996 ซึ่งบริษัทฯ ได้ส่งมอบเรือให้แก่กองทัพเรือเรียบร้อยถูกต้องตรงตามสัญญาทั้งสองโครงการ สำหรับโครงการจ้างเรือสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997 และ ต.998 จำนวน 2 ลำ ในครั้งนี้
กองทัพเรือ ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2558 – 2567 ที่ได้กำหนดความต้องการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวนทั้งสิ้น 16 ลำ เพื่อใช้ในภารกิจต่าง ๆ และทดแทนเรือที่ครบกำหนดปลดระวางประจำการ โดยกองทัพเรือได้จัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งไว้ใช้ในราชการแล้วคือ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.81 – ต.83 ชุดเรือ ต.991 – ต.996 และชุดเรือ ต.111 – ต.115 รวมเป็นจำนวน 14 ลำ และในส่วนของการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 2 ลำนี้ กองทัพเรือได้ออกประกาศเชิญชวนยื่นข้อเสนอโดยวิธีคัดเลือก และบริษัท มาร์ซันฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้สร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำ ตามแบบชุดเรือ ต.994 ของกองทัพเรือ โดยมีรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะทางเทคนิคตามความต้องการของฝ่ายเสนาธิการ และจัดให้มีพิธีลงนามในสัญญา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ซึ่งการว่าจ้างให้ บริษัท มาร์ซันฯ เป็นผู้ดำเนินการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำ โดยประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 และมีกำหนดส่งมอบเรือ ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564
ดังนั้น เมื่อกองทัพเรือได้รับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ครบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือพ.ศ.2558 – 2567 แล้ว จะทำให้กองทัพเรือมีเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเพียงพอต่อการใช้งาน ตอบสนองต่อภารกิจตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ และเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ โดยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งทั้งสองลำนี้จะเข้าประจำการในกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ มีภารกิจในการตรวจการณ์สกัดกั้น ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลและชายฝั่ง คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ บริเวณชายฝั่งทะเลในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมถึงการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์
คุณลักษณะที่สำคัญของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่นี้ มีความยาวตลอดลำ 41.45 เมตร ความกว้างสูงสุดของเรือ 7.2 เมตร ความลึกของเรือ 3.8 เมตร ระยะกินน้ำลึกตัวเรือ 2.0 เมตร ความเร็วสูงสุดต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 28 นอต กำลังพลประจำเรือ 33 นาย เครื่องจักรใหญ่ ตราอักษร MAN กำลังเครื่องยนต์ 2960 KW ที่ 1900 rpm พร้อมเพลาใบจักร ตราอักษร WARTSILA จำนวน 2 ชุด เครื่องไฟฟ้าขนาด 150 KW 380 VAC จำนวน 2 ชุด เกียร์ส่งกำลัง ตราอักษร ZF รุ่น 9055 จำนวน 2 ชุด มีการจัดแบ่งที่พักอาศัยสำหรับกำลังพลตามอัตรา 33 นาย เสบียงอาหาร และน้ำจืดเพียงพอ สามารถปฏิบัติงานในทะเลได้อย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งบำรุง ระยะปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 1,500 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วเดินทางมัธยัสถ์ที่ระวางขับเต็มที่
สำหรับพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำจะต้องทำพิธี เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน ในสมัยปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำ แบบสากล ให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธี โดยวิธีปล่อยขวดแชมเปญกระทบหัวเรือ การนี้ สืบเนื่องมาจากการดื่มอวยพรด้วยถ้วยเงิน เมื่อดื่มแล้วก็ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดกับหัวเรือแทน คราวหนึ่งสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือ แต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีได้รับบาดเจ็บ จึงได้ใช้เชือกผูกคอขวดเสียก่อนเสมอ
จนถึงปัจจุบันนี้ พิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวี เฉพาะที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454 ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ เรือหลวงเสือคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2453 ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับเรือหลวง ตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดย กรมอู่ทหารเรือที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก คือ เรือหลวงสัตหีบ (ลำที่ 1) ซึ่งมี คุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยา จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) เป็นสุภาพสตรี ผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2500