ครัวเรือนไทยได้รับผลกระทบด้านสถานะทางการเงิน

 

ครัวเรือนไทยได้รับผลกระทบด้านสถานะทางการเงิน จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เอไอเอ เผยผลสำรวจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อรายได้และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อการออมในภาคครัวเรือน

กลุ่มบริษัทเอไอเอ เผยรายงานการสำรวจผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่มีต่อการออมในภาคครัวเรือน โดยเปิดเผยว่า คนไทยได้รับผลกระทบต่อรายได้และสถานะทางการเงินมากกว่าอีก 7 ประเทศที่ทำการสำรวจในครั้งนี้

จากผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 82 ของคนไทยจำนวน 1,000 คนกล่าวว่า รายได้ของพวกเขาได้รับผลกระทบในทางลบเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่อยู่ราวร้อยละ 66 และร้อยละ 79 รู้สึกว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของพวกเขา ในขณะที่ผลจากการสำรวจในทุกประเทศอยู่ที่ร้อยละ 64 นอกจากนี้ รายได้เฉลี่ยในประเทศไทยลดลงสูงกว่าประเทศอื่น ๆ อยู่ที่ร้อยละ 33 และอีกร้อยละ 22 ของผู้ตอบแบบสอบถามรายงานว่า รายได้ของตนลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากรายได้เดิม

AIA Save Smarter Study 2021 ได้ทำการสำรวจผู้เอาประกันภัยทั้งสิ้น 7,400 คนที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ในภูมิภาคเอเชียรวม 8 แห่ง ประกอบด้วยจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อปี 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกทั้งในด้านชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ กลุ่มบริษัทเอไอเอ มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ดังกล่าว และด้วยเป้าหมายที่เรามุ่งมั่นสนับสนุนให้ผู้คนนับล้านมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น ตามคำมั่นสัญญา ‘Healthier, Longer, Better Lives’ จึงเป็นที่มาในการทำการสำรวจ AIA Save Smarter Study 2021 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้วิกฤตการณ์ครั้งนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เต็มใจที่จะละทิ้งแผนการใช้เงินออมสำหรับอนาคต และเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการปกป้องตนเองจากสิ่งที่ไม่คาดฝัน จากเหตุการณ์นี้เองทำให้ผู้คนเลือกเก็บเงินสดไว้ในธนาคาร อย่างไรก็ตาม เอไอเอ มีความมุ่งมั่นที่จะนำเสนอทางเลือกในการวางแผนทางการเงินและการบริหารความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันสำหรับผู้บริโภค ผ่านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิต ลิงค์) ที่สามารถมอบความอุ่นใจให้แก่ผู้บริโภคได้มากขึ้น ด้วยผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว และยังป้องกันความเสี่ยงด้านสภาพคล่องไว้ได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามคำมั่นสัญญาของเอไอเอ นั่นคือเราต้องการช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น”

ตั้งใจเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินโดยขาดการวางแผนที่รอบคอบ

ผลกระทบต่อสถานะทางการเงินที่สำคัญจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในการออมภาคครัวเรือนของผู้บริโภค ในขณะที่คนไทยร้อยละ 57 กล่าวว่าพวกเขาถูกบีบบังคับจากสถานการณ์ทำให้จำเป็นต้องลดการออมลงในปี 2563 (สูงสุดในบรรดาประเทศที่สำรวจทั้งหมด) ซึ่งร้อยละ 83 เห็นด้วยว่าพวกเขาวางแผนที่จะกันเงินออมเพิ่มขึ้นจากความหวาดกลัวและความไม่มั่นคงอันเกิดจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้ และร้อยละ 45 ของกลุ่มตัวอย่าง ยืนยันว่าพวกเขาวางแผนที่จะเพิ่มเงินออมในปี 2564 โดยมีเพียงร้อยละ 11 ที่วางแผนจะเพิ่มเงินออมของพวกเขาในอัตราส่วนที่มากกว่าร้อยละ 50

การศึกษายังแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มและวัตถุประสงค์ในการออมของภาคครัวเรือนกำลังเปลี่ยนแปลง การจัดการความไม่แน่นอนได้กลายเป็นเป้าหมายใหม่ที่สำคัญสำหรับการออมโดยมุ่งเน้นที่การเข้าถึงกองทุนเงินสำรองฉุกเฉินมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้จ่ายยามฉุกเฉิน (ร้อยละ 71) การค้ำประกันความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเองและครอบครัวในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน (ร้อยละ 60) รวมถึงความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและการเตรียมตัวเพื่อการเกษียณ (ร้อยละ 54) ถือเป็นเป้าหมายอันดับต้น ๆ ของการออมในประเทศไทย

วิธีบรรลุเป้าหมายที่หลากหลายของการออมในภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้นถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ คนไทยร้อยละ 44 ออมเงินที่มีอยู่หลังหักค่าใช้จ่ายโดยไม่มีแผนการออมเชิงรุก ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศทั้งหมดที่ทำการสำรวจ ร้อยละ 16 กันเงินออมไว้ในจำนวนที่แน่นอน ร้อยละ 19 เริ่มกำหนดเป้าหมายการออม และร้อยละ 21 ระบุเป้าหมายการออมและกันเงินออมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยธนาคารยังคงเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการออม มากกว่า 9 ใน 10 ของกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 92) ในไทย ยังนิยมคงสภาพคล่องในการออมผ่านการฝากเงินไว้ในธนาคาร และเกือบหนึ่งในสี่ของผู้ฝากเงินไว้กับธนาคารนั้น (ร้อยละ 22) ไม่มีเงินออมในช่องทางอื่น ๆ อีกเลย

ความสำคัญของการประกันภัยเพื่อความคุ้มครองและการออม

ผลกระทบเพิ่มเติมของการระบาดใหญ่ครั้งนี้ คือผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจในการทำประกันภัยมากขึ้น โดยร้อยละ 85 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยเห็นด้วยว่าการประกันภัยมีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา ในการให้ความคุ้มครองที่ดีขึ้นในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และร้อยละ 16 กล่าวว่าพวกเขาวางแผนที่จะเพิ่มการจัดสรรเงินทุน เพื่อการทำประกัน ในจำนวนคนไทยที่วางแผนจะเพิ่มการใช้จ่ายในการทำประกันนั้น ร้อยละ 58 ระบุว่าพวกเขาวางแผนที่จะใช้จ่ายมากขึ้นในการประกันชีวิตด้วยการออม และร้อยละ 56 ตั้งใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้นในการทำประกันเพื่อคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและสุขภาพ

ผลกระทบทางอารมณ์จากสถานการณ์โควิด-19

ความกลัวและความไม่แน่นอนที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดี เป็นตัวกระตุ้นให้ธุรกิจประกันภัยได้รับความนิยมมากขึ้น โดยร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทยกล่าวว่าโควิด-19 ส่งผลในแง่ลบต่อชีวิตทางสังคมของพวกเขาในปี 2563 และร้อยละ 54 เชื่อว่ายังส่งผลเสียต่อสุขภาพของพวกเขาอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผลต่อสุขภาพทั้งทางการเงินและส่วนบุคคลมีแนวโน้มที่จะยังไม่สิ้นสุดในเร็ว ๆ นี้ โดยร้อยละ 89 เชื่อว่าโควิด-19 จะคงอยู่หลังจากเดือนมิถุนายน 2564 และร้อยละ 26 เชื่อว่าจะคงอยู่จนถึงปี 2566 หรือนานกว่านั้น

“อย่างไรก็ดี เราอยากให้คนไทยมั่นใจว่า เอไอเอ จะยังคงอยู่เคียงข้างและพร้อมสนับสนุนให้ประชาชนทั่วประเทศ มีความคุ้มครองด้านชีวิตและสุขภาพที่เพียงพอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเรามีตัวแทนประกันชีวิตที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคกว่า 50,000 ท่าน ซึ่งสามารถให้คำปรึกษาและช่วยวางแผนทางการเงินให้กับคนไทย เพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ผมในนามของเอไอเอ ประเทศไทย ขอเป็นกำลังใจให้คนไทยก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างแข็งแรงทั้งกายและใจ” นายกฤษณ์ กล่าวทิ้งทาย

Related posts