วันนี้ (22 ก.ค.64) พลเรือเอก เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ ได้ชี้แจงถึงแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือที่ปรากฏรายการต่าง ๆ ตามการพิจารณางบประมาณอยู่ในขณะนี้นั้น ขอเรียนให้พี่น้องประชาชน และสื่อมวลชนทราบว่า รายการต่าง ๆ ดังกล่าว ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาโดยละเอียดอย่างถูกต้อง เปิดเผย และเป็นไปตามแนวคิดที่มีความจำเป็นตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ ในการป้องกันประเทศและอธิปไตยทางทะเล การรักษาความมั่นคง และ ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพเรือ ต้องรับผิดชอบภารกิจการรักษาความมั่นคงทางทะเลมีพื้นที่สองฝั่งทะเล ซึ่งรับผิดชอบอาณาเขตทางทะเลประมาณ 323,388.32 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 60 ของอาณาเขตทางบกที่มีเนื้อที่อยู่ประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะต้องจัดกำลังทางเรือและอากาศยานปฏิบัติการในพื้นที่รับผิดชอบตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันโดยไม่มีวันหยุด เพื่อลาดตระเวนเฝ้าตรวจ
รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนในทะเลและเกาะแก่งต่าง ๆ ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งการปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเรื่องที่กองทัพเรือให้ความสำคัญสูงสุด ทั้งนี้เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในทะเล จะทำให้เรือและอากาศยานของกองทัพเรือสามารถปฏิบัติการได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากระยะทางในการเกิดเหตุในทะเล มักไม่เกิดใกล้ฝั่ง
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันสถานภาพของเรือและอากาศยานของกองทัพเรือนั้น จากการที่ต้องมีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ในการดำรงภารกิจการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจในทะเล ซึ่งการปฏิบัติการในทะเลนั้นจะทำให้เรือและอากาศยานมีผลการเสื่อมสภาพและสึกหรอมากกว่าปกติ ซึ่งมีผลต่ออายุการใช้งานของยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือ อีกทั้งเรือและอากาศยานส่วนใหญ่ก็มีอายุการใช้งานเกินเกณฑ์กำหนด รวมทั้งงบประมาณด้านปฏิบัติการของเรือรบและอากาศยานที่มีนักบินที่ได้รับแต่ละปีมีจำนวนจำกัด
จึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการของกองทัพเรือโดยตรง ตัวอย่างนี้ ได้แก่ การใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ซึ่งสามารถสนับสนุนการลาดตระเวนตรวจการณ์ของเรือรบและอากาศยานที่มีนักบินทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เข้าถึงพื้นที่ปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว และสามารถปฏิบัติการบนอากาศได้อย่างยาวนานมากยิ่งขึ้น และช่วยประหยัดงบประมาณด้านการปฏิบัติการ รวมทั้งยังเป็นการใช้บุคลากรที่เป็นนักบิน ช่างเครื่อง และสิ่งอำนวยความสะดวกน้อยกว่าอากาศยานที่ใช้นักบิน ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมการใช้นักบินและช่างเครื่องของกองทัพเรือจากการปฏิบัติการบินในพื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่องอันเป็นการลดความเสี่ยงได้
ดังนั้นจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าทุกรายการนั้นมีเหตุผลที่เหมาะสมรองรับการจัดหาดังกล่าว ประการสำคัญที่สุด คือ ในภาวะปัจจุบันที่มีการระบาดของโควิด-19 ประเทศต้องมีภาระด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายที่จะต้องรับมือ กองทัพเรือจึงได้ตระหนักในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นอย่างมาก และต้องการมีส่วนในการร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการช่วยเหลือรัฐบาล และพี่น้องประชาชนดังจะเห็นได้จากการที่กองทัพเรือได้ขอเลื่อนโครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม ใคร่จะขอเรียนทำความเข้าใจว่า ในส่วนของยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ที่เหลือนั้น ยังคงมีความจำเป็นด้วยจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะทำให้การปฏิบัติงานในทะเลเพื่อรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล รวมทั้งผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติทางทะเลมีประสิทธิภาพสูงสุด อันจะเป็นหลักประกันในการสร้างความมั่นคงทางทะเลและสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลพี่น้องประชาชนที่มีกิจกรรมทางทะเลให้ปลอดภัยตลอดไป
ในช่วงท้าย โฆษกกองทัพเรือ ได้ขอให้ทุกฝ่ายอย่าได้นำการทำหน้าที่และความจำเป็นเหล่านี้ ไปสร้างความเข้าใจที่ผิด สร้างความแตกแยก และทำให้เกิดผลกระทบและบั่นทอนต่อกำลังใจของพี่น้องประชาชน หรือผลในด้านอื่น ๆ อันจะเป็นการสร้างความเสียหายให้กับหลายๆ ฝ่าย เพราะความจำเป็นดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานที่ไม่กระทบต่อภาระจำเป็นที่มีอยู่ หากทุกฝ่ายได้พิจารณาในรายละเอียดด้วยเหตุและผล และมีความเป็นธรรมจากจิตใจ
“กองทัพเรือ จึงขอเรียนชี้แจงด้วยความจริงใจ และความสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อประเทศชาติที่เรารักในการดูแลอาณาเขตทางทะเลของไทยที่มีพื้นที่มหาศาลและมีทรัพยากรทางทะเลที่มีค่าเป็นจำนวนมากให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และ ปลอดภัย นั้น กองทัพเรือจะทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยจิตใจที่มั่นคง เพราะทะเลนั้นเป็นเหมือนถิ่นของเรา จะขอเฝ้าตราบจนชีวิตเราสิ้น” โฆษกกองทัพเรือ กล่าว