ผบ.ทร. มอบรางวัลคุณภาพกองทัพเรือและนาวีวิจัย ประจำปี 2564

 

วันนี้ (1 ก.ย.64) พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลคุณภาพกองทัพเรือและนาวีวิจัย ประจำปี 2564 ณ ท้องพระโรง พระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ โดยมี พลเรือเอก ทรงวุฒิ บุญอินทร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการพัฒนากำลังพลและการจัดการความรู้กองทัพเรือ พลเรือเอก ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการกำกับการการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของกองทัพเรือ พลเรือโท วาสเทพ แพทยานนท์ ปลัดบัญชีทหารเรือ ในฐานะประธานอำนวยการจัดงานวันรางวัลคุณภาพกองทัพเรือและนาวีวิจัย งบประมาณ 64 และ พลเรือตรี อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ในฐานะประธานอำนวยการจัดงานวันนาวีวิจัย 2021 พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่กองทัพเรือ ให้การต้อนรับ

 

กองทัพเรือได้ให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐและนาวีวิจัย ซึ่งนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อการดำเนินงานขององค์กร ให้เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงอันจะนำไปสู่การเป็นกองทัพเรือที่มีมาตรฐานการปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ โดยส่งเสริมให้หน่วยมีการพัฒนาความรู้และต่อยอดให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อการปฏิบัติงาน ก่อให้เกิดนวัตกรรมและวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ ตลอดจนปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรในกองทัพเรือ ให้มีการถ่ายทอดแบ่งปันความรู้ และสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เป็นประธานมอบรางวัลยกย่องเกียรติคุณนักวิจัยของกองทัพเรือและผลงานโครงการวิจัย ที่เข้าสู่สายการผลิตของกองทัพเรือ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจ รวมทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยและนักประดิษฐ์ของกองทัพเรือ ได้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานและกองทัพ ทำให้หน่วยสามารถดำรงสภาพยุทโธปกรณ์และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วย อีกทั้งช่วยลดงบประมาณในการจัดหายุทโธปกรณ์ทำให้กองทัพสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตอบสนองต่อนโยบายของกองทัพเรือด้านการวิจัยและพัฒนา

 

โดยในปีนี้ มีผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ เสนอขอเข้ารับรางวัลยกย่องเกียรติคุณนักวิจัยของกองทัพเรือรวมจำนวน 13 ผลงาน ประกอบด้วยผลงานวิจัยและพัฒนาด้านยุทโธปกรณ์ จำนวน 2 ผลงาน ผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ จำนวน 6 ผลงาน และผลงานด้านหลักการ จำนวน 5 ผลงาน ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่น หน่วยเจ้าของผลงานจะได้รับโล่เกียรติคุณ นายทหารโครงการและนักประดิษฐ์ จะได้รับโล่และประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัลผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชย นายทหารโครงการและนักประดิษฐ์ จะได้รับโล่และประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล และผลงานโครงการวิจัยที่เข้าสู่สายการผลิตของกองทัพเรือ จำนวน 8 โครงการ จะได้รับโล่รางวัล

โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้แสดงความยินดีพร้อมทั้งให้โอวาทแก่หน่วยเจ้าของผลงานและผู้ที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

 

ผมขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับหน่วยต่าง ๆ ที่มีความวิริยะ อุตสาหะ ในการพัฒนาการจัดการความรู้ของหน่วยให้ดีขึ้นจนได้รับรางวัลและขอให้รักษาเพิ่มพูนความรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานให้สูงยิ่งขึ้นและมีความยั่งยืนสืบไป ผมขอแสดงความยินดีแก่หน่วยงาน นักวิจัยและนักประดิษฐ์ของกองทัพเรือทุกท่าน ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ รวมทั้งขอชื่นชมในความทุ่มเทและเสียสละในการสร้างสรรค์ผลงาน อันเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจของกองทัพเรือทำให้เกิดความเป็นมาตรฐาน สามารถพัฒนาสู่ความเป็นเลิศระดับสากล และมีการพัฒนาต่อยอดผลงานเหล่านี้ต่อไป”

สำหรับผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลประจำปี 2564 มีดังต่อไปนี้

 

ผลงานการวิจัยและพัฒนาการทางทหารด้านยุทโธปกรณ์ ได้รับรางวัลดีเด่น จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ 1. ผลงาน โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตและทดสอบใบจักรเรือแมงกานิส หน่วยเจ้าของโครงการ กรมอู่ทหารเรือ นายทหารโครงการ นาวาเอก เสวียง เถื่อนบุญ 2. ผลงาน โครงการวิจัยและพัฒนาการสร้างตะเกียงระบบเลนส์หมุนพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้กับประภาคาร/กระโจมไฟของ กรมอุทกศาสตร์ หน่วยเจ้าของโครงการ กรมอุทกศาสตร์ นายทหารโครงการ นาวาเอก พันธุ์นาถ นาคบุปผา

 

ผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ ได้รับรางวัลดีเด่น จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ 1. ผลงาน เครื่องตั้งความลึกของทุ่นระเบิดแบบอัตโนมัติ หน่วยเจ้าของผลงาน กรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ หัวหน้านักประดิษฐ์ นาวาเอก อนุสรณ์ ยังคุ้มญาติ 2. ผลงาน การพัฒนานวัตกรรมหุ่นฝึกทักษะการดูดเสมหะ (NAVY SAFETY SUCTION MODEL) หน่วยเจ้าของผลงาน กรมแพทย์ทหารเรือ หัวหน้านักประดิษฐ์ นาวโทหญิง สุปราณี พลธนะ

 

ผลงานด้านหลักการ ได้รับรางวัลดีเด่น จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ 1. ผลงาน ระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะ (NPD Smart Alert บน NPD Platform) หน่วยเจ้าของผลงาน กรมช่างโยธาทหารเรือ หัวหน้าผู้สร้างผลงาน นาวาเอก พรชัย จ้อยจำรูญ 2. ผลงาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยฝึกปฏิบัติทางทัศนสัญญาณ หน่วยเจ้าของผลงาน กรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ หัวหน้าผู้สร้างผลงาน ว่าที่ เรือตรี ฉลาด ราศี

ในส่วนของนักประดิษฐ์ และผู้สร้างผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชยเข้ารับรางวัล ดังมีรายชื่อต่อไปนี้

 

ผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่ 1. ผลงาน ระบบวิเคราะห์ภัยคุกคามไซเบอร์บนเครือข่ายสารสนเทศกองทัพเรือ หน่วยเจ้าของผลงาน กรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ หัวหน้านักประดิษฐ์ นาวาโท จตุพร  ศรีกลชาญ 2. ผลงาน การประยุกต์ใช้ Lightweight โปรโตคอล และ IOT สำหรับระบบเฝ้าตรวจและแจ้งเตือนอัคคีภัยกองทัพเรือ หน่วยเจ้าของผลงาน โรงเรียนนายเรือ หัวหน้านักประดิษฐ์ นาวาเอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิตติ สัมภัตตะกุล 3. ผลงาน ตู้นิรภัยอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำ (Aquatic Life Saving Box) หน่วยเจ้าของผลงาน กรมแพทย์ทหารเรือ หัวหน้านักประดิษฐ์ นาวาเอก เงิน พวงนาค 4. ผลงาน อุปกรณ์ต้นแบบกำจัดน้ำที่ปนเปื้อนในน้ำมันดีเซล หน่วยเจ้าของผลงาน โรงเรียนนายเรือ หัวหน้านักประดิษฐ์ นาวาโทหญิง สายฝน เกียวสัมพันธ์

 

ผลงานด้านหลักการ จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ 1. ผลงาน การพัฒนา Application การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หน่วยเจ้าของผลงาน กรมแพทย์ทหารเรือ หัวหน้าผู้สร้างผลงาน นาวาโทหญิง สุพัตรา นุชกูล 2. ผลงาน การพัฒนาแนวทางการพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟาริน โดยใช้การคิดเชิงนวัตกรรม หน่วยเจ้าของผลงาน กรมแพทย์ทหารเรือ หัวหน้าผู้สร้างผลงาน นาวาโทหญิง สินีนุช ศิริวงศ์ 3. ผลงาน การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการคำนวณอัตรากำลังพยาบาลตามภาระงานในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ หน่วยเจ้าของผลงาน กรมแพทย์ทหารเรือ หัวหน้าผู้สร้างผลงาน นาวาตรีหญิง จิตสิริ รุ่นใหม่

 

ผลงานโครงการวิจัยที่เข้าสู่สายการผลิตของกองทัพเรือ จำนวน 8 โครงการ ดังนี้ 1. โครงการวิจัยและพัฒนารั้วไร้สาย นายทหารโครงการ นาวาเอก อนุสรณ์ ยังคุ้มญาติ 2. โครงการวิจัยและพัฒนาปลอกทวีแรงถอยของปืนกลขนาด 0.5 นิ้ว แบบเอ็ม 2 ลำกล้องหนัก นายทหารโครงการ นาวาเอก ชัชวาลย์ โตรุ่ง 3. โครงการวิจัยและพัฒนาปลอกทวีแรงถอยของปืนกล ขนาด 7.62 มิลลิเมตร แบบเอ็ม 60 นายทหารโครงการ นาวาเอก ชัชวาลย์ โตรุ่ง 4. โครงการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้นักบินขึ้น – ลงทางดิ่ง แบบนารายณ์ 3.0 นายทหารโครงการ นาวาเอก ภาณุพงศ ขุมสิน 5. โครงการวิจัยและพัฒนาการสร้างระบบตะเกียงเลนส์หมุนพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้กับประภาคาร/กระโจมไฟของ กรมอุทกศาสตร์ นายทหารโครงการ นาวาเอก พันธุ์นาถ นาคบุปผา 6. โครงการวิจัยและพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนสะเทินน้ำสะเทินบก นายทหารโครงการ นาวาเอก นพิพัฒน์ รัตนพิทักษ์ 7. โครงการวิจัยและพัฒนาระบบแสดงแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ (ECS) นายทหารโครงการ นาวาเอก ฤทธิเดช เกตุทอง 8. โครงการวิจัยและพัฒนาการหล่อใบจักรนิกเกิลอะลูมิเนียมบรอนซ์สำหรับเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง นายทหารโครงการ นาวาเอก เสวียง เถื่อนบุญ

 

 

Related posts