ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือไทย เข้าร่วมการประชุม International Seapower Symposium (ISS) ครั้งที่ 25 ณ วิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐ ภายใต้แนวคิด “Security Through Partnership”
พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือไทย เข้าร่วมการประชุม International Seapower Symposium (ISS) ครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 19 – 22 ก.ย.66 ณ วิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐ นิวพอร์ต รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา
การประชุม ISS จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือตลอดจนผู้นำของหน่วยงานด้านความมั่นคงทางทะเลจากประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสพบปะหารือเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายที่จะยกระดับความมั่นคงทางทะเลและความร่วมมือในการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ในอนาคต
การประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนจากกองทัพเรือ และหน่วยงานด้านความมั่นคงทางทะเลเข้าร่วมกว่า 100 ประเทศ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูง และหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลของสหรัฐฯ โดยมีการหารือและอภิปรายในเรื่องสำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated : IUU fishing) , ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) , เทคโนโลยีไร้คนขับ (Unmaned Technology) , การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย (Humanitarian Assistance and Disaster Relief :HA/DR) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการหารือแบบทวิภาคีของผู้แทนประเทศต่างๆ ในการนี้ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เข้าหารือแบบทวิภาคีกับ พล.ร.อ.ซามูเอล ปาปาโร ผู้บัญชาการกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ ในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือตามโครงการ Maritime Security Initiative (MSI) , การฝึก The Rim of the Pacific Exercise (RIMPAC) และการเสริมสร้างความร่วมมือต่างๆ ระหว่างกองทัพเรือไทย และ กองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งในภาพรวมผลการปะชุมและการหารือประสบผลสำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ภายใต้บรรยากาศความเป็นมิตรไมตรีที่แนบแน่น บรรลุตามกรอบแนวคิดที่ว่า “Security Through Partnership”
การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของผู้บัญชาการทหารเรือในการแสดงถึงบทบาทของกองทัพเรือบนเวทีระหว่างประเทศ เพื่อสร้างพันธมิตรและความร่วมมือในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ตลอดจนการแก้ปัญหาที่เกิดจากภัยคุกคามร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่งคงทางทะเล และความยั่งยืนในการแสวงหาและการใช้ประโยชน์จากทะเลต่อไปในอนาคต