“สุดาวรรณ” ชู Soft Power วัฒนธรรมไทย 4 ภาค “มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย”

สุดาวรรณ ชู Soft Power วัฒนธรรมไทย 4 ภาค มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ยิ่งใหญ่ โชว์ศิลปวัฒนธรรมของดี ของเด่น การแสดงพื้นบ้าน อาหาร ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมโดดเด่นแต่ละพื้นที่ ช่วงมิ.ย.-ส.ค.นี้ ลั่นผลักดันสู่ระดับชาติ หนุนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายนำวัฒนธรรมไทยมาสืบสาน รักษา และต่อยอดไปสู่มิติใหม่ๆให้เกิดการสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของไทยเพื่อสนับสนุนมิติทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมและขับเคลื่อน Soft Power การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยมุ่งยกระดับมหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นระดับชาติเพื่อเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวของคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก รวมทั้งสร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและเกิดสำนึกรักท้องถิ่น ดังนั้น วธ.จึงจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้จังหวัดสงขลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดนครราชสีมา ภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก และภาคกลางและภาคตะวันออกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สำหรับพื้นที่แรกภาคใต้ จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย อัตลักษณ์เมืองใต้ หนังตะลุง โนรา วันที่ 27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม  2567 ณ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภายในงานมีการแสดงโนรา รำโนราถวายพระบรมรูป รัชกาลที่ 5 หนังตะลุง การแสดงศิลปวัฒนธรรมจากศิลปินพื้นบ้านและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ 14 จังหวัด การแสดงวงดนตรี การแสดงผลงานศิลปะโดยสมาคมศิลปินนานาชาติภาคใต้ เสวนาทางวิชาการ โนรา/หนังตะลุง เสวนา เรื่อง วิถีวัฒนธรรมสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร นิทรรศการมีชีวิตโนราและวิถีชีวิตชุมชนสงขลาในอดีต นิทรรศการวาดเส้น ชุด เรือนพื้นถิ่นรอบลุ่มเลสงขลา เยี่ยมชมหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯสงขลา กิจกรรมนวดเพื่อสุขภาพ จำหน่ายสินค้า CPOT การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจากกลุ่มจังหวัดภาคใต้

ถัดมาจัดงานพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย เศรษฐกิจวัฒนธรรมอีสานสร้างสรรค์ วันที่ 18-22 กรกฎาคม 2567 ณ ลานศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา มีกิจกรรม ได้แก่ การแสดงศิลปวัฒนธรรมจากศิลปินพื้นบ้านและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด การจัด Graffiti on Street (ถนนจอมพล) Street Art and Food และ Lighting & Sound จำหน่ายอาหารของดีโคราช การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจากกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า จากนั้นจัดงานที่ภาคเหนือ งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ร่วมใจเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ วันที่ 16-20 สิงหาคม 2567 ณ พระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก มีกิจกรรมการแสดงแสง เสียง ละครอิงประวัติศาสตร์ เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ การแสดงโขน การแสดงดนตรี และการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากศิลปินพื้นบ้านกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัดและเครือข่ายวัฒนธรรมในจังหวัดพิษณุโลก ถนนสายวัฒนธรรม เลียบวัดเคียงวัง กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ การแสดงและการสาธิตภูมิปัญญาพื้นบ้าน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไทย (CPOT) จากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ บริการนวดแพทย์แผนไทย และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ถ่ายรูปจุดเช็คอินทุ่งไฟประดับและเชิญชวนแต่งกายย้อนยุค

หลังจากนั้นจัดที่ภาคกลางและภาคตะวันออก งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ศาสตร์ศิลป์ตระการตา เลอค่ามรดกวัฒนธรรม วันที่ 22 – 26 สิงหาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากกรมศิลปากร ศิลปินพื้นบ้านและกลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก 25 จังหวัด การสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (วิถีชาววัง) และการสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก

“งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทยทั้ง 4 ภูมิภาค ทำให้คนไทยแต่ละภาคได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีและเสริมพลังความเข้มแข็งของสถาบันหลักของชาติ ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้านให้มีพื้นที่ในการนำเสนอคุณค่าของงานศิลปวัฒนธรรมของไทย เพิ่มบทบาทของหน่วยงานทางวัฒนธรรมในพื้นที่ในการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่นให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง ทำให้เด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้และร่วมสืบสานอนุรักษ์ไว้ นำทุนทางวัฒนธรรมไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจ และเสริมฐานรากวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว

Related posts