ปลัดวธ.ใส่บาตรพระล่องแพ ตลาดโอ๊ะป่อย เคาะเกราะไม้ไผ่เปิด “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” บ้านท่ามะขาม สวนผึ้ง ราชบุรี

ปลัดวธ.ใส่บาตรพระล่องแพ ตลาดโอ๊ะป่อย เคาะเกราะไม้ไผ่เปิด เที่ยวชุมชน ยลวิถี บ้านท่ามะขาม สวนผึ้ง ราชบุรี ยกย่องเป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบปี 66 ปักหมุดแลนด์มาร์ควัฒนธรรมกะเหรี่ยงแห่งใหม่ให้นักท่องเที่ยว หนุนสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดสุดยอดชุมชนต้นแบบ เที่ยวชุมชน ยลวิถี ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านท่ามะขาม โดยมี นางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายสำรวย นักการเรียน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอสวนผึ้ง ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสวนผึ้ง ผู้นำชุมชนและพี่น้องชุมชนคุณธรรมฯ บ้านท่ามะขาม และผู้มีเกียรติเข้าร่วม ณ ชุมชนบ้านท่ามะขาม ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และคณะ ได้ร่วมกิจกรรมใส่บาตร (พระล่องแพ) ชมการแสดง ชุด เจปันนิว จากโรงเรียนบ้านท่ามะขาม และเคาะเกราะไม้ไผ่ เพื่อเปิดชุมชนต้นแบบ เที่ยวชุมชน ยลวิถี ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านท่ามะขามอย่างเป็นทางการ ชมการสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ณ บริเวณตลาดโอ๊ะป่อย นำคังด้งมาแขวน ณ บริเวณลานคังด้ง ชมการแสดงชุดรำถักเชือก จากโรงเรียนบ้านสวนผึ้ง จากนั้นเดินทางไปวัดป่าท่ามะขาม เยี่ยมชมอุโบสถ กราบสักการะพระมิ่งมงคลในโบสถ์มหาอุตม์ กราบสักการะ พระใบฎีกาแดง อภิปุญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าท่ามะขาม ร่วมพิธีบวชป่า ปลูกต้นไม้ รวมไปถึงชมเส้นทางท่องเที่ยววิถีธรรมชาติ ถึงตลาดเฌอซีญ่า (ตลาดไกวเปล) สุดท้ายได้เข้าพิธีผูกแขนเรียกขวัญ และสาธิตการชงชาเบญจชาไทยจากปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้น

ปลัดวธ. กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเยี่ยมเยือนชุมชนคุณธรรมฯ บ้านท่ามะขาม อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ เที่ยวชุมชน ยลวิถี ประจำปี พ.ศ. 2566 เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกระดับชุมชนคุณธรรมฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน โดยเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายใต้โครงการ เที่ยวชุมชน ยลวิถี ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยคัดเลือกชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติทั่วประเทศ จำนวน 76 ชุมชน ให้เหลือ 10 ชุมชน เพื่อรับรางวัล 10 สุดยอดชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ เที่ยวชุมชน ยลวิถี และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติผู้มาเยือน ได้ศึกษาเรียนรู้ อัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของชุมชน

ปลัดวธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับชุมชนคุณธรรมฯ บ้านท่ามะขาม ถือเป็นชุมชนที่มีผู้นำ พลังบวร และเครือข่ายในการขับเคลื่อนที่เข้มแข็ง คนในชุมชนมีความสุข มีความรักสามัคคี มีการอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีศักยภาพมีคุณภาพ และมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ สามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ บ้านท่ามะขาม ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี บรรพบุรุษได้มีการปลูกต้นมะขาม เพราะมีความเชื่อว่าปลูกแล้วจะเป็นที่เคารพนับถือและเกรงขามของสรรพสิ่งทั้งหลาย มีโบสถ์มหาอุตม์ ลายไทย บันไดพญานาค โบสถ์มีสีแดงสะดุดตา ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ แกะสลักสวยงาม โบสถ์ตั้งอยู่บนเนินเขา ทำให้มองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ บรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่มีสัญชาติไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ประมาณร้อยละ 90 และยังคงใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม ปัจจุบันการแต่งกายแบบวัฒนธรรมดั้งเดิมจะมีเฉพาะในเทศกาลหรืองานพิธีสำคัญ ซึ่งผู้นำชุมชนได้รณรงค์ส่งเสริมให้คนในชุมชนแต่งกายที่เป็นลักษณะเฉพาะของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในกิจกรรมของการท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ตลาดเช้าริมธาร ตลาดโอ๊ะป่อย (แปลว่า พักผ่อน) รวมทั้งนำอาหารพื้นถิ่นมาจำหน่าย เช่น ข้าวแดกงา ข้าวห่อกะเหรี่ยง โดยไฮไลท์สำคัญของชุมชนมีธรรมชาติที่สวยงาม มีลำภาชีไหลผ่านที่ตลาดโอ๊ะป่อย จึงเป็นแนวคิดนิมนต์พระสงฆ์นั่งแพไม้ไผ่ล่องมาบิณฑบาต โดยให้นักท่องเที่ยวใส่บาตรพระล่องแพยามเช้าเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งเรียกว่า ตักบาตรพระล่องแพ ถือเป็นมนต์เสน่ห์ของตลาดโอ๊ะป่อยอีกด้วย

โดยแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมชุมชนเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี พบว่า ปี 2565 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 75,300 คน มีรายได้ 37,650,000 บาท ปี 2566 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 68,400 คน มีรายได้ 34,200,000 บาท

 

Related posts