ทีม Think Tank “รัฐมนตรีเฉลิมชัย” เผยแนวทางขับเคลื่อนโครงการโลว์คาร์บอน ไทยแลนด์เพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อนพร้อมเดินหน้าพัฒนาป่าชุมชนสู่ป่าคาร์บอน เพิ่มรายได้ชุมชนทุกภาค 1.1 หมื่นแห่ง
วันนี้ 20 ธ.ค.67 นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยหลังจากเป็นประธานการประชุมที่ปรึกษาของรมว.ทส. ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ จากทุกภาคส่วน ทำหน้าที่เสมือนคลังสมอง (Think Tank) เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์และแนวทางนโยบาย รวมทั้งโครงการต่าง ๆ ภายใต้ภารกิจของกระทรวง ทส. โดยได้มีการประชุมหารือภารกิจหลัก 6 ด้าน
1. ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
2. ด้านทรัพยากรน้ำทั้งระบบ
3. ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ขยะ และมลพิษ
4. ด้านยุทธศาสตร์ แผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเมกะโปรเจค
5. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ
6. ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อเสนอใหม่ๆที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น การขยายความร่วมมือกับองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก องค์การยูเนสโกธนาคารโลก และ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ทางด้านการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เช่น ปัญหาความมั่นคงอาหาร ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหากรุงเทพจม ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งประเด็น Blue Bond และ Green Bond
นอกจากนี้ ยังมีการหารือแนวทางการพัฒนาป่าชุมชน (Community Forest) สู่ป่าคาร์บอน (Carbon Forest) เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดโลกร้อน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนกว่า 1.1 หมื่นแห่งทุกภาคทั่วประเทศ ให้เป็นแหล่งอาหารชุมชน (Community Food Bank) แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Bank) แหล่งคาร์บอน (Carbon Bank) แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecological Tourism) โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการใหม่ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคีในพื้นที่ด้วยโมเดล 3 หุ้นส่วน (3‘P : Public-Private-People Partnership model) ซึ่งถอดบทเรียนจากโครงการสระบุรี แซนด์บ็อก รวมทั้งข้อเสนอโครงการ โลว์คาร์บอน ไทยแลนด์ (Low Carbon Thailand) ประกอบด้วย โครงการย่อยเชิงโครงสร้าง เช่น โลว์คาร์บอน ซิตี้ โลว์คาร์บอน แคมปัส โลว์คาร์บอน อินดัสตรีฯลฯ
“ที่ประชุมยังหารือแนวทางนโยบายการแก้ปัญหากรุงเทพจม ปัญหา PM2.5 ปัญหาขยะ การพัฒนาระบบน้ำในระดับประเทศ ระดับภาค และ EEC การพัฒนาระบบน้ำใต้ดิน การลดคาร์บอนด้วยพลังงานทดแทน เช่น โซล่าเซลล์ และพลังงานลม การแก้ปัญหาที่ดินทำกินของราษฎร การสร้างระบบเตือนภัยความร้อน (Heat Sensor) และการพัฒนาระบบความเย็นในเมืองหลวง และเมืองใหญ่ การสร้างเมืองน่าอยู่ (Liveable City) และ แนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนสถานภาพและการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครในสังกัดกระทรวง ทส.ที่มีอยู่เกือบ 3 แสนคน เป็นต้น โดยจะนำเสนอต่อรัฐมนตรี ทส.เพื่อพิจารณาต่อไป” นายอลงกรณ์ กล่าวในที่สุด
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีที่ปรึกษาที่เข้าร่วมประชุมแบบอินไซท์และออนไลน์ ได้แก่ ศจ.ดร.ดุสิต เครืองาม, รศ.ดร.ไพบูลย์ กวินเลิศวัฒนา, ดร.ประกอบ รัตนพันธ์, พล.ร.อ.ดร.สมัย ใจอินทร์, ดร.มณทิพย์ ศรีรัตนา, นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท, นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์, พล.อ.ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์, นายปรพล อดิเรกสาร, พล.อ.รักเกียรติ พันธุ์ชาติ, ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร, นายฉัตรพันธ์ เดชกิจสุนทร และ นายภานุ สุขวัลลิ ฯลฯ