โฆษก ศรชล. แจงยิบ หลังภาพยนตร์ “Seaspiracy” ช่อง NETFLIX พาดพิงการทำประมงผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ในเรือ ลั่นไทยแก้ปัญหาจนบรรลุผล ตามเป้าหมายเชิงนโยบาย 6 ด้าน
วันนี้ (8 เม.ย.) พล.ร.ต.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กล่าวชี้แจงกรณีภาพยนตร์ เรื่อง Seaspiracy ทางช่อง NETFLIX บางตอนพาดพิงประเทศไทยในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ในเรือประมงทำให้เสียภาพลักษณ์ประเทศไทย ว่า ภาพยนตร์ดังกล่าว เริ่มออกอากาศเมื่อ 24 มี.ค. 2564 ซึ่งช่วงเวลา 1:06:00 – 1:12:00 เป็นการนำเสนอเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกับลูกเรือประมง ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2558
โดยมีสาระสำคัญของปัญหา ประกอบด้วย ปัญหาที่ 1 การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ทั้งในน่านน้ำไทยและในทะเลหลวง โดยใช้เรือไทย และในน่านน้ำประเทศใกล้เคียงโดยใช้เรือที่โอนทะเบียนไปชักธงรัฐนั้นๆ และปัญหาที่ 2 การค้ามนุษย์หรือการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง ที่ทำประมงในน่านน้ำดังกล่าวข้างต้น
พล.ร.ต.ปกครอง กล่าวต่อว่า ซึ่งสถานะปัจจุบัน หลังประเทศไทยทุ่มเทแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จนสำเร็จในปี พ.ศ.2562 ใช้เวลา 4 ปีครึ่ง ซึ่งมีจุดบ่งชี้ที่สำคัญ คือ ไทยพ้นจากใบเหลือง IUU ขั้นเลวร้ายมาเป็นใบเขียว คือปกติ และพ้นจากบัญชีค้ามนุษย์ขั้นเลวร้ายมาอยู่ใน Tier-2 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562
“โดยคำชี้แจงของประเทศไทย คือ 1. ประเทศไทยยินดีอย่างยิ่งที่มีการตรวจสอบทุกแง่มุม เพื่อสนับสนุนหลักการด้านความโปร่งใส 2. ประเทศไทยยึดถือและมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อความยั่งยืนของทะเล และทรัพยากรประมง 3. ประเทศไทยจะไม่อดทนต่อการค้ามนุษย์ในภาคประมงอีกต่อไป 4. ประเทศไทยมิได้ดำเนินการแก้ปัญหาโดยลำพัง แต่มีหุ้นส่วนที่ร่วมทำงานแก้ปัญหาทุกมิติ และในทุกพื้นที่ที่มีปัญหามาตลอดเวลา และมุ่งมั่นจะดำรงความโปร่งใสและชัดเจนตลอดการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนต่อไป” โฆษก ศรชล. กล่าว
พล.ร.ต.ปกครอง กล่าวอีกว่า การตระหนักถึงปัญหา สัญญาณด้านลบที่ได้รับ 2 ด้านที่สำคัญ ในปี 2558 ประกอบด้วย ด้านแรก สหภาพยุโรป จัดไทยขึ้นบัญชี IUU-ใบเหลือง และสหรัฐฯ จัดไทยขึ้นบัญชีค้ามนุษย์ Tier-3 การนี้ ไทยมิใช่เพียงตระหนักถึงปัญหาหนักเฉพาะหน้า แต่ยังยึดถือความยั่งยืนของท้องทะเล ทรัพยากรประมง และของแรงงานประมงเป็นสำคัญ โดยมีกลไกความพยายามระดับชาติ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาล คสช.ในขณะนั้น จึงทำการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) มาขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการประมง ตามแผนบริหารจัดการประมงแห่งชาติเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมงทะเลที่มีการกำกับและตรวจสอบโดยคณะตรวจสอบของกรรมาธิการทะเลแห่งรัฐสภาสหภาพยุโรป และแผนป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ มีการติดตามความก้าวหน้าโดยฝ่ายสหรัฐฯ ตลอดช่วงการแก้ไขปัญหา
อีกทั้ง นโยบายหลัก ศปมผ.ทำงานตามเป้าหมายเชิงนโยบาย 6 ด้าน คือ 1. การปฏิรูปกฎหมาย 2. การจัดการกองเรือ 3. การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง 4. การบังคับใช้กฎหมาย 5. การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในภาคประมง และ 6. การแสวงหาหุ้นส่วน ทั้งนี้การขับเคลื่อนนโยบายหลักเหล่านี้ดำเนินการอย่างมีลำดับขั้นตอนเพื่อให้ได้ผลทุกประเด็น การนำไปสู่การปฏิบัติการชี้นำของผู้นำทางการเมือง ครอบคลุมทั้งด้านการประมงและการค้ามนุษย์ มีความจริงจัง ต่อเนื่อง ตลอดเวลา จนถึงวันที่บรรลุเป้าหมาย
“ปัจจุบัน ศรชล.หรือศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นหน่วยที่รับผิดชอบในการเป็นแม่งานต่อไป ที่รับผิดชอบดำเนินงานด้วยระบบตรวจสอบ และเฝ้าระวัง การประมงพาณิชย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อประกันความยั่งยืนของทะเล และการคุ้มครองแรงงานประมงตามแนวทางของสหประชาชาติต่อไป” โฆษก ศรชล. กล่าวทิ้งท้าย