โฆษกศาลยุติธรรม สรุปยอด 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์คดีจราจรทางบกช่วงโควิด-19 คดี “เมาแล้วขับ” สูงสุดครองแชมป์อันดับ 1 กว่า 12,000 คดี แนะควรปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดแม้ไม่ใช่ช่วงเทศกาล
วันนี้ (17 เม.ย.64) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยสรุปยอดรวมปริมาณคดีความผิด ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ปี 2564 (ระหว่างวันที่ 10 – 16 เมษายน 2564) ซึ่งรวบรวมข้อมูลสถิติโดยศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม พบว่า
กลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง
1. จำนวนคดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยแบ่งเป็น
จำนวนคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณา รวมทั้งสิ้น 12,664 คดี จำนวนคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 12,627 คดี (คิดเป็นร้อยละ 99.71)
2. จังหวัดที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่
นครราชสีมา จำนวน 1,410 คดี
ชลบุรี จำนวน 794 คดี
อุบลราชธานี จำนวน 724 คดี
เชียงราย จำนวน 600 คดี
ศรีสะเกษ จำนวน 590 คดี
3. ศาลที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่
ศาลแขวงนครราชสีมา จำนวน 696 คดี
ศาลแขวงอุบลราชธานี จำนวน 556 คดี
ศาลแขวงเชียงราย จำนวน 436 คดี
ศาลแขวงชลบุรี จำนวน 406 คดี
ศาลจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 386 คดี
4. ข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด ได้แก่
ขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 12,213 คน
ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต จำนวน 816 คน
ขับรถขณะเสพยาเสพติด จำนวน 40 คน
ขับรถโดยประมาท จำนวน 34 คน
5. จำนวนจำเลยที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษา รวมทั้งสิ้น 13,103 คน โดยแบ่งเป็น
เพศชาย 12,827 คน เพศหญิง 276 คน
จำนวนจำเลยสัญชาติไทย 12,609 คน
จำนวนจำเลยสัญชาติอื่น 494 คน
กลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว
1. จำนวนคำร้องที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 82 คำร้อง
2. จำนวนข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับ
ขับรถขณะเมาสุรา 63 คน
ขับรถขณะเสพยาเสพติด 18 คน
ขับรถโดยประมาท 5 คน
ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต 2 คน
3. จำนวนผู้ต้องหาที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 88 คน แบ่งเป็น
เพศหญิง 4 คน
เพศชาย 84 คน
4. ผลการตรวจสอบการจับ แบ่งเป็น
ชอบด้วยกฎหมาย 88 คน
ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 0 คน
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณาปริมาณคดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ปี 2564 แล้ว พบว่า มีปริมาณคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง เพิ่มขึ้นจากช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ปี 2564 ที่ผ่านมา จำนวน 3,212 คดี และหากเปรียบเทียบกับปริมาณคดีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่าน ๆ มา ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเห็นได้ว่าปีนี้มีปริมาณคดีลดลงกว่าเท่าตัว ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่เดินทางกลับภูมิลำเนา หรือยกเลิกการท่องเที่ยว ประกอบกับ ศบค. ได้ประกาศข้อกำหนด ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 19) (ซึ่งใช้บังคับอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว) ให้ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน 41 จังหวัด เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ข้อหาขับรถขณะเมาสุรายังคงเป็นข้อหาที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุดอย่างต่อเนื่องในทุกเทศกาล จึงอยากฝากความห่วงใยถึงประชาชนทุกคนให้เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ขับขี่ด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอแม้ไม่ใช่ช่วงเทศกาล เพื่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมทาง ตลอดจนคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ด้านศาลยุติธรรม ยังคงใช้มาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวดในการป้องกันไวรัสโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรของศาลยุติธรรมและผู้มาติดต่อราชการศาลทุกคน