ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบภาค 1 ปฏิบัติภารกิจชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยื่นฟ้องศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยกล่าวหา นายอนุวัตร มุทิกากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, นางสาวมรกต วัฒนรุ่งเรืองยศ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และ นายนรินทร์ ทองคำใส รองเลขานุการศาลฎีกา ทั้งสามคนในฐานะประธานและคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ 333/2564 วันที่ 25 มี.ค.64 ลงนามโดยประธานศาลฎีกา กรณี นายปรเมษฐ์ ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ อท.48/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 โดยนายปรเมษฐ์ ฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยศาลอาญาฯ นัดฟังคำสั่งในวันที่ 7 มิ.ย.64 เวลา 09.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายละเอียดคำฟ้องขั้นต้นนั้นระบุว่าวันที่ 26 มี.ค.64 สำนักงานศาลยุติธรรมมีคำสั่งที่ 333/2564 โดยนายอนุวัตร เป็นประธาน, นางสาวมรกต เป็นกรรมการ และ นายนรินทร์ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยจำเลยทั้งสามมีหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐานและเสนอความเห็นเพื่อทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดของนายปรเมษฐ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดวินัยร้ายแรง/ไม่ร้ายแรง/ไม่มีมูลความผิด
คำฟ้องระบุว่า หลังจากมีคำสั่งศาลยุติธรรมเมื่อวันที่ 25 มี.ค.64 พบว่าวันที่ 26 มี.ค.64 จำเลยทั้งสามร่วมเดินทางไปสอบพยานหลักฐานที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ถัดมาวันที่ 31 มี.ค.64 นายนรินทร์ โทรศัพท์มาแจ้งนายปรเมษฐ์ ว่าให้มาชี้แจงกับกรรมการในวันที่ 1 เม.ย.64 เพราะนายอนุวัตร เข้าเวรที่ศาลฎีกาในวันนั้น โดยปกติแล้วในการปฏิบัติราชการของกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในขั้นต้นต้องมีหนังสือแจ้งนัดผู้ถูกล่าวหาเข้าชี้แจง และควรได้รับทราบประเด็นร้องเรียน เพื่อให้สามารถรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการชี้แจง และเข้าสืบแก้ในข้อที่เป็นผลร้ายต่อตนเอง
“วันที่ 1 เม.ย.64 โจทก์ปวดท้องมาก และวันนั้นมีผู้พิพากษามารายงานตัว และขอพบหลายคน เมื่อเสร็จภารกิจจึงไปพบแพทย์ที่รพ.สระบุรี แพทย์มีหนังสือความเห็นว่า ตนเป็นกระเพาะอาหารอักเสบควรพักผ่อนในวันที่ 1-2 เม.ย.64 และก่อนหน้านั้นคือวันที่ 29 มี.ค.64 ตนไปรพ.ราชวิถี เพราะปวดท้องแพทย์นัดให้ไปรังสีวินิจฉัยวันที่ 12 พ.ค.64 ด้วย โดยตนทำหนังสือลาป่วยของวันที่ 29 มี.ค.64 และวันที่ 1-2 เม.ย.64 ต่อประธานศาลฎีกาแล้ว
หลังตนพบแพทย์ที่รพ.สระบุรี แล้วได้โทรศัพท์ติดต่อนายนรินทร์ฯ หลายครั้งแต่นายนรินทร์ฯบล็อกโทรศัพท์ตน เพราะตนต้องการไปชี้แจงต่อกรรมการ ซึ่งเป็นจำเลยทั้งสามในคดีที่ตนฟ้องร้องนี้ เพราะตนต้องการทราบว่าผู้ใดร้องเรียน และมีประเด็นใดบ้างเพื่อที่จะได้ทราบสืบแก้ได้ถูกต้อง” คำฟ้องระบุ
คำฟ้องระบุว่า วันที่ 2 เม.ย.64 ตนพยายามติดต่อนายนรินทร์ หลายครั้งแต่โดนบล็อกโทรศัพท์ ตนจึงติดต่อนายอนุวัตร โดยนายอนุวัตร ตอบว่า กรรมการมีความเห็นไปแล้ว ตนจึงแจ้งนายอนุวัตรฯว่าตนยังไม่ได้ชี้แจงและไม่ทราบประเด็นการร้องเรียนที่จำเลยทั้งสามสอบสวนและมีผลร้ายแก่ตน นายอนุวัตร ให้ตนติดต่อนายนรินทร์ ดังนั้นเลขานุการของตนได้แจ้งนายอนุวัตร ว่าตนโทรศัพท์หา นายนรินทร์ฯ หลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้ จากนั้นตนยังติดต่อนายนรินทร์ แต่พบว่าโดนบล็อกโทรศัพท์
“ตนยังพร้อมไปพบกรรมการและชี้แจง เพราะต้องการทราบประเด็นข้อร้องเรียน หากตนได้เข้าชี้แจงและหากกรรมการให้ความเป็นธรรมแก่ตนก็จะทราบความจริงว่าเป็นกรณีที่ตนปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชธรรมนูญศาลยุติธรรม และบทบัญญัติกฎหมาย ตนไม่ได้แทรกแซงการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาผู้ใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด ตอนเกิดเหตุตนเป็นเจ้าของคดีหมายเลขดำที่ อท.48/2563มีความเป็นอิสระในการพิพากษาคดี
จำเลยทั้งสามได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในกรณีของตนต้องสอบสวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นฯ และเมื่อเสร็จสิ้นการสอบสวนขั้นต้นหากผู้ถูกสอบสวนถูกกล่าวหา และเป็นผลร้ายโดยไม่มีโอกาสชี้แจงนั้นหากมีกรณีเช่นนี้ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงก่อน
ดังนั้นกรณีนี้เป็นการกระทำสอบสวนของกรรมการทั้งสามอย่างเร่งรีบ รวบรัด ด่วนสรุปความเห็นเพียงไม่กี่วันหลังได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ หากตนได้เข้าชี้แจงเข้าสืบแก้ผลร้ายแก่ตนตามสิทธิ และหลักกฎหมายกับกรรมการทั้งสามนั้น กรรมการจะสอบสวนโดยไม่เร่งรีบฯ ดังนั้นกรรมการทั้งสามที่เป็นจำเลยคดีนี้ร่วมกันงดดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานและด่วนสรุปความเห็นจึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ,บทบัญญัติกฎหมาย และประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม” คำฟ้องระบุ
คำฟ้องระบุว่า น่าสงสัยว่าเหตุใดจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำการดังกล่าวทั้งๆที่เมื่อเสร็จสิ้นการสอบสวนชั้นต้นแล้ว จำเลยทั้งสามต้องพิจารณาว่ามีข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้ชี้แจง ดังนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันมีเจตนาไม่ดำเนินการสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมาย และประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
ตนมีหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานศาลฎีกา และกรรมการชุดนี้เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 เพื่อขอความเป็นธรรมแต่ประธานศาลฎีกานำความเห็นชั้นต้นของจำเลยทั้งสามเสนอคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเพื่อขอความเห็นชอบให้ตนไปปฏิบัติภารกิจชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมจึงทราบว่าตนยังไม่ได้ชี้แจงตามที่ถูกกล่าวหา ทำให้ตนเสียหาย จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 81, 93
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สาเหตุการฟ้องนายอนุวัตร, นางสาวมรกต และนายนรินทร์ ในครั้งนี้มาจากกรณีที่นายปรเมษฐ์ มีความเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสรุปการสอบสวนของนายอนุวัตร, นางสาวมรกต และ นายนรินทร์ ที่เป็นคณะกรรมการสอบสวนกรณีคำสั่งของประธานศาลฎีกา ย้ายนายปรเมษฐ์ จากตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า กรณีข้างต้นนั้นคาดว่ามาจากกรณีที่นายปรเมษฐ์ ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าแทรกแซงการพิจารณาคดี หมายดำที่ อท. 84/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ระหว่าง นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช., น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยนายปรเมษฐ์ เป็นเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าว และได้พิจารณาสั่งยกคำร้อง