กองทุนฟื้นฟูฯ ลุยแก้หนี้เกษตรกรตัวจริงเท่านั้น ย้ำไม่รับขึ้นทะเบียนหนี้รายใหญ่ เผยปี 64 อนุมัติเกินเป้า 970 ล้าน วอนรัฐบาลหนุนงบปี 65 เพิ่ม 4 พันล้าน ช่วยหนี้เร่งด่วน
กองทุนฟื้นฟูฯ แจงลุยทำงานเพื่อช่วยเกษตรกรตัวจริงเท่านั้น ย้ำมีมาตรการเข้มป้องกันปัญหานำหนี้รายใหญ่หรือหนี้ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรขึ้นทะเบียน พร้อมเผยอนุมัติแก้หนี้ปี 64 เกินงบทะลุ 970 ล้าน พร้อมวอนรัฐบาลหนุนงบปี 65 เพิ่มอีก 4 พันล้านเพื่อนำไปซื้อหนี้เร่งด่วนของเกษตรกรกว่า 3.5 หมื่นราย
นายมนัส วงษ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรสมาชิกที่เป็นหนี้เร่วด่วนจนถึงระดับที่ทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูอาชีพ เป็นภารกิจสำคัญของกองทุนฟื้นฟูฯ โดยในการแก้ปัญหาหนี้นั้นตามระเบียบกำหนดว่า จะต้องเป็นหนี้ในระบบที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเท่านั้น มูลหนี้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ทั้งนี้มูลหนี้ของเกษตรกรสมาชิกที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบว่า ได้มีเกษตรกรมาขอขึ้นทะเบียนหนี้ที่เกินกว่า 5 ล้านบาท หรือเรียกว่า หนี้รายใหญ่ ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่สามารถให้ขึ้นทะเบียนได้
“สาเหตุเป็นเพราะ เกษตรกรต้องการที่จะได้รับความช่วยเหลือให้มีเวลาพักชำระหนี้ได้อีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งในการขึ้นทะเบียนหนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ จะมีมาตรการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดและเข้มข้นโดยเฉพาะวัตถุประสงค์การเป็นหนี้ต้องตรงตามระเบียบกำหนด คือเป็นหนี้ในระบบที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบอาชีพการเกษตรเท่านั้น และขอย้ำว่า หนี้ที่เกิดจากการลงทุนทำธุรกิจหรือการลงทุนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรขึ้นทะเบียนหนี้ไม่ได้”
นายมนัส กล่าวต่อไปว่า สำหรับเจ้าหนี้ตามกฎหมายของกองทุนฟื้นฟูฯ มี 4 ประเภท คือหนี้สหกรณ์ หนี้ ธกส. หนี้ธนาคารพาณิชย์ และ หนี้นิติบุคคล เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือโรงงานน้ำตาล เป็นต้น โดยกองทุนฟื้นฟูฯ มีบทบาทช่วยจัดการหนี้ ทั้งในรูปแบบการเจรจาประนอมหนี้ การผ่อนผัน การชะลอดำเนินการทางกฎหมาย และการชำระหนี้แทน โดยหลักเกณฑ์ชำระหนี้แบ่งออกตามประเภทของเจ้าหนี้ เช่น กรณีสหกรณ์จะชำระหนี้แทนในส่วนเงินต้นเต็ม 100 และดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ระยะเวลาคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 10 ปี ส่วนธนาคารพาณิชย์ ถ้าหลักทรัพย์มีมูลค่าคุ้ม จะชำระหนี้ที่ร้อยละ 90 แต่กรณีหลักทรัพย์ไม่คุ้มหรือมีบุคคลค้ำประกัน จะชำระหนี้แทนร้อยละ 50
“ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรได้ประโยชน์จากการจัดการหนี้แล้วกว่า 30,000 ราย ด้วยงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนกว่า 7,000 ล้านบาท ทำให้รักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรสมาชิกได้กว่า 560,000 ไร่”
ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร กล่าวต่อไปว่า สำหรับในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรสมาชิกจำนวนมาก เพราะไม่มีรายได้ที่เพียงพอต่อการชำระหนี้ ส่งผลให้เกิดหนี้เสีย หรือเป็นNPLมากขึ้น กองทุนฟื้นฟูฯได้เข้าไปช่วยเจรจาชำระหนี้แทนเกษตรกรซึ่งในปีงบประมาณ 2564 นี้ กองทุนฟื้นฟูฯได้รับจัดสรรงบจำนวน 700 ล้านบาท แต่ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ ได้อนุมัติการช่วยเหลือแล้วกว่า 970 ล้านบาทดังนั้นจึงต้องมีการปรับแผนงบประมาณที่มีอยู่ให้เพียงพอ พร้อมทั้งยื่นเรื่องเสนอต่อรัฐบาลให้จัดสรรงบประมาณในปี 2565 เพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท เพื่อนำมาจัดการหนี้ให้เกษตรกรจำนวน 3.5 หมื่นรายซึ่งหวังว่า จะได้รับความอนุเคราะห์จากรัฐบาล
“อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้เป็นภารกิจสำคัญของกองทุนฟื้นฟูฯ ดังนั้น เกษตรกรที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ สามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ ด้วยการมาขึ้นทะเบียนสมาชิกองค์กร และทำการขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ทุกวันในวันและเวลาทำการ กองทุนฟื้นฟูฯ พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรทุกคน” นายมนัส กล่าวในที่สุด