“ราชทัณฑ์” เผย พบผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด เพิ่มอีก 192 ราย เสียชีวิต 1 ราย

 

“กรมราชทัณฑ์” เผย สถานการณ์โควิด-19 รายใหม่ 192 ราย เสียชีวิต 1 ราย รักษาหาย 94.6% ชี้ กทม.-นนทบุรี คงเหลือผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 500 ราย พร้อมปรับเป็นเรือนจำสีขาวเร็วๆ นี้

วันนี้ (10 ก.ค.64) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน (ข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 เวลา 16.00 น.) พบผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ 192 ราย รักษาหายเพิ่ม 6 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมมีผู้ต้องขังติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 1,705 ราย

นายอายุตม์ เปิดเผยว่า สถานะเรือนจำสีขาวและสีแดงยังคงที่ คือเรือนจำสีขาวที่ไม่พบการระบาด 122 แห่ง และเรือนจำสีแดงที่พบการระบาด 11 แห่ง วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากเรือนจำสีแดงจำนวน 190 ราย และพบในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่ 2 ราย มีผู้ป่วยที่รักษาหาย 6 ราย รวมหายสะสม 35,456 ราย หรือ 94.6% ของจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 37,472 ราย สำหรับผู้ต้องขังที่ยังรักษาตัวอยู่ แบ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว 64.3% สีเหลือง 35.1% และสีแดง 0.6% ผู้เสียชีวิตสะสม 47 ราย หรือ 0.1% ของผู้ติดเชื้อสะสม

นายอายุตม์ กล่าวต่อว่า ผู้เสียชีวิต 1 รายในวันนี้ เป็นผู้ต้องขังชายอายุ 62 ปี จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง X-ray พบปอดอักเสบ ให้การรักษาด้วยยา Favipiravir Dexamethasone ยาปฏิชีวนะระดับสูง ออกซิเจน HFNC และรักษาด้วย Remdesivir แต่ยังมีอาการเหนื่อย ได้ปรึกษาญาติพิจารณารักษาประคับประคอง ต่อมาผู้ป่วยซึมลงวัดสัญญาณชีพไม่ได้ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา กรมราชทัณฑ์ ต้องขอแสดงความเสียใจต่อญาติ และครอบครัวมา ณ โอกาสนี้ด้วย

นายอายุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเรือนจำและทัณฑสถาน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี ถือว่าเกือบจะเป็นปกติแล้ว ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังที่ยังอยู่ระหว่างรักษารวมทุกแห่งอยู่ที่ 473 ราย โดยมีเพียงเรือนจำพิเศษมีนบุรี ที่ยังอยู่ระหว่างการควบคุมโรคและค้นหาผู้ติดเชื้อ ที่พบการระบาดในบางแดนเท่านั้น เช่นเดียวกับเรือนจำและทัณฑสถาน ในเขตพื้นที่ปริมณฑลและต่างจังหวัด ที่ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการค้นหาเพื่อการคัดแยกและรักษา ทั้งนี้ สถานการณ์โดยรวมยังถือว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะทุกฝ่ายได้เรียนรู้วิธีการรับมือ และเตรียมแผนรองรับการแพร่ระบาดอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงการเตรียมยา เวชภัณฑ์ และบุคลากรเพื่อปฏิบัติงาน ภายใต้การประสานงานกับโรงพยาบาลแม่ข่ายและสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่อย่างเป็นระบบ

Related posts