เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 กันยายน ที่บริษัท อีซี่โฮม(ประเทศไทย) จำกัด นายเจริญชัย กิจเวคิน ที่ปรึกษา บริษัทอีซี่โฮมฯ พร้อมทนายความ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวโต้กรณี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้พากลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นผู้เสียหาย เข้าร้องกองปราบปราม กล่าวหาบริษัทหลอกขายบ้าน จนทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย
นายเจริญชัย กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว นายอัจฉริยะ ได้มีการพูดออกสื่อว่า บริษัทอีซี่โฮมหลอกลวงขายบ้านให้กับผู้เสียหาย และได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บังคับคดี ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดความเข้าใจผิด ที่จริงคือบ้านที่บริษัทขายเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทอีซี่โฮม ทุกหลัง บริษัทประมูลบ้านจากการขายทอดตลาด ชำระค่าซื้อทรัพย์ครบถ้วน และการที่นายอัจฉริยะ กล่าวหาว่าร่วมมือกับกรมบังคับคดีนั้นก็ไม่เป็นความจริง กรมบังคับคดีเป็นหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ไปตามกฎหมาย ในการประมูลซื้อทรัพย์ของกรมบังคับคดี จะต้องมีการประมูลแข่งราคากัน และเมื่อชนะประมูลก็มาการชำระค่าซื้อทรัพย์ครบถ้วนผู้นั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งการที่กล่าวหาดังกล่าวนั้นทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย
และที่กล่าวหาว่า อีซี่โฮมนำโฉนดไม่มีชื่ออีซี่โฮม แต่ยังมีชื่อเจ้าของเดิมหลังโฉนดไปขายได้อย่างไร ส่วนนี้เป็นความเข้าใจผิดของหลายคน ที่ยังเข้าใจว่าการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจะต้องมีชื่อหลังโฉนดเพียงอย่างเดียว ซึ่งการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดนั้น เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ชำระเงินค่าประมูลซื้อทรัพย์ครบถ้วนแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นแล้ว และที่ผ่านมาก็มาบริษัทเคยประมูลทรัพย์มาได้ซึ่งเจ้าของบ้านเข้ามาขัดขวางไม่ให้บริษัทเข้าไปทำประโยชน์ และมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นซึ่งปรากฎตามแนวคำพิพากษาต่าง ๆ มากมายที่ศาลได้ตัดสินให้ขับไล่ผู้มีชื่อในโฉนดออกจากบ้าน นั้นแสดงว่าผู้ที่มีชื่อในโฉนดไม่ได้หมายถึงว่าต้องเป็นเจ้าของเสมอไป มันมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องการประมูล
ส่วนทำไมบริษัทถึงไม่ไปปิดหนี้จำนองให้ เนื่องจากมีหลายครั้งที่ทัรัพย์ที่ประมูลจะเป็นการประมูลแบบติดจำนอง ซึ่งมีภาระหนี้สูงเกินกว่าตัวทรัพย์ หรือเรียกว่าหนี้ท่วมตัวทรัพย์ เช่น ผู้กู้ ซึ่งก็คือเจ้าของบ้านที่มีชื่อหลังโฉนดซื้อบ้านมาเพียง 1 ล้านบาท แต่ขอกู้ธนาคาร มา 2 ล้าน นั้นหมายถึงว่า ผู้กู้ได้เงินส่วนต่างไปแล้ว 1 ล้านบาท เงินส่วนต่างที่เกินนี้ผู้กู้หรือผู้จำนองได้นำไปใช้เป็นการส่วนตัวแบบสบาย ๆ ซึ่งจะให้อีซี่โฮมรับหนี้ที่ไม่ได้ก่อมันไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม แต่ เมื่อบริษัทอีซี่โฮมประมูลได้ จะมีการเจรจาขอลดหนี้ หากมีส่วนลดแล้ว หนี้ที่เหลือไม่เกินตัวทรัพย์บริษัทอีซี่โฮมก็ปิดบัญชีให้ ซึ่งมีผู้กู้บางรายถูกหักเงินเดือนจากการกู้ ซึ่งมันก็ไม่เกี่ยวกับบริษัท ในเมื่อก่อนที่ผู้กู้จะกู้เงิน ตัวผู้กู้เองได้เซ็นต์สัญญาตกลงยินยอมให้หักเงินเดือน ผู้กู้ก็ต้องปฏิบัติไปตามสัญญาที่มีไว้่ต่อผู้ให้กู้ บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนบางรายที่มีหมายศาลไปปิดขับไล่ผู้เสียหาย ซึ่งส่วนนี้ผู้เสียหายตกใจไปเอง เพราะบางรายไม่มีชื่อผู้เช่าเป็นจำเลย เพราะในหมายจะมีชื่อโจทก์ซึ่งคือธนาคาร หรือสถาบันการเงิน มีชื่อเจ้าของเดิมเป็นจำเลยที่ 1 และจะมีชื่อบริษัทอีซีโฮมเป็นจำเลยด้วย ไม่เกี่ยวกับผู้เช่าเลย ส่วนนี้ก็ให้อยู่ตามปกติ ไม่มีใครมาขับไล่ได้นอกจากบริษัทอีซี่โฮมเท่านั้น ธนาคารก็ขับไล่ไม่ได้เพราะเป็นไปตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตามการที่นายอัจฉริยะ มีการให้ข่าวกับสื่อในทางที่ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายในส่วนนี้ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว ส่วนผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้เสียหาย หากยังมีการกระทำให้บริษัทได้รับความเสียหายอยู่ ทางเราก็จะรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีตามกฎหมายเช่นกัน