วันนี้ (4 ก.ย.64) กรมราชทัณฑ์ ชี้แจง กรณี สื่อมวลชนนำเสนอข่าว ว่ามีญาติผู้ต้องขังร้องผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ให้ตรวจสอบสถานการณ์โควิด-19 ในเรือนจำจังหวัดอุทัยธานี โดยอ้างว่าสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต มียอดผู้ติดเชื้อกว่า 400 ราย และไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นจริงและเป็นปัจจุบัน พร้อมเรียกร้องเพื่อการตรวจสอบใน 4 ข้อ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ขอเรียนชี้แจงในประเด็นดังกล่าว ดังนี้
- การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การคัดแยก และควบคุมการระบาดในเรือนจำ ภายหลังจากที่พบการระบาดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ได้รายงานสถานการณ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี รวมถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุทัยธานีทราบในทันที พร้อมดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจำนวน 330 เตียงรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและสีเหลืองเพื่อรักษาในเรือนจำ ภายใต้คำแนะนำของผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุทัยธานี และความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด รวมถึงการคัดแยกผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มเปราะบาง ผู้ต้องขังป่วย และผู้ต้องขังทั่วไปออกจากกัน ตามแผน Bubble And Seal ภายใต้แผนการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต (แผน BCP) อย่างเคร่งครัด
- การตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ได้รับความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลอุทัยธานี เพื่อเข้าดำเนินการตรวจหาเชื้อในผู้ต้องขังทุกรายจำนวน 860 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่เรือนจำ 64 คน ด้วยวิธีการ RT-PCR เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 และการตรวจหาเชื้อซ้ำตามรอบทุกๆ 7 วัน พร้อมดำเนินการเอกซเรย์ปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์พระราชทานและเครื่องเอกซเรย์จากโรงพยาบาลอุทัยธานีในผู้ต้องขังทุกรายเพื่อหาความผิดปกติของปอด ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ต้องขังทุกราย ได้รับการคัดกรอง และการรักษา ให้ยา ทั้งฟ้าทะลายโจร และยาฟาวิพิราเวียร์ตามลักษณะอาการอย่างครบถ้วน และถูกต้องภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- การดูแลและรักษาผู้ติดเชื้อ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ได้จัดเจ้าหน้าที่เรือนจำ จำนวน 2 คน และเจ้าหน้าที่พยาบาล 1 คน รวมถึงแพทย์เวรจากโรงพยาบาลอุทัยธานี เพื่อดูแลและรักษาผู้ติดเชื้อภายในโรงพยาบาลสนามเรือนจำ ซึ่งเรือนจำจังหวัดอุทัยธานีได้รับยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันเชื้อ และวัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ จากการสนับสนุนของโรงพยาบาลอุทัยธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี รวมทั้งส่วนกลางกรมราชทัณฑ์ซึ่งเพียงต่อการใช้งานอยู่เสมอ โดยหากพบมีผู้ต้องขังอาการผิดปกติหรือรุนแรงขึ้น จะได้รับการส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก ซึ่งจากการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 7 -30 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ได้รับการส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลอุทัยธานีจำนวน 10 ราย และเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งได้รับการส่งตัวไปรักษาตั้งแต่วันแรกที่ตรวจพบเชื้อและได้รับการดูแลรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมประสานญาติผู้เสียชีวิต เพื่อทราบอาการและนำร่างผู้เสียชีวิตไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามวิธีการจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อย
- การจัดเตรียมอาหารสำหรับผู้ต้องขัง ทางเรือนจำจังหวัดอุทัยธานี มีการดำเนินการตามเมนูอาหารประจำวัน ซึ่งมีความถูกต้องและครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และเป็นมาตรฐานสำหรับผู้ต้องขังทุกราย ส่วนในผู้ต้องขังป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารประจำวันได้ เรือนจำฯ จะดำเนินการจัดอาหารประเภทข้าวต้ม โจ๊ก ให้กับผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าวอย่างเหมาะสม โดยสำหรับน้ำดื่มสำหรับผู้ต้องขัง จะเป็นน้ำดื่มที่สะอาดผ่านการกรองจากเครื่องกรองน้ำที่มีการล้างทำความสะอาดเป็นประจำทุกสัปดาห์
ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการพบเชื้อและการแพร่ระบาดขึ้น ทางเรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ได้รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและสถานการณ์ไปยัง ศบค.ยธ. และศบค.รท. รวมทั้งมีการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณด้านหน้าของเรือนจำฯ เพื่อรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ พร้อมประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางไลน์กลุ่ม “ประชาสัมพันธ์สถานการณ์โควิดเรือนจำจังหวัดอุทัยธานี” ทางเพจเฟซบุ๊ก “เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี” และการสอบถามผ่านโทรศัพท์เป็นประจำทุกวัน ไม่ได้มีการปิดบังข้อมูลแต่อย่างใด
ด้านสถานการณ์การติดเชื้อของเรือนจำจังหวัดอุทัยธานีในวันนี้ พบว่าไม่มีผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ระหว่างการรักษา เป็นกลุ่มสีเขียว 133 ราย และสีเหลือง 42 ราย รักษาหายแล้ว 163 ราย ซึ่งสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่อง และได้เข้าสู่แผนการสิ้นสุดการระบาดของโรค หรือ EXIT แล้ว โดยจะดำเนินการตรวจ Antibody ในผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อและแยกกักตัวต่อเนื่องอีก 21 วัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถ EXIT และกลับมาปฏิบัติงานได้เป็นปกติภายในเดือนกันยายนนี้
อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ที่ผ่านมาทุกเรือนจำและทัณฑสถาน ได้ดำเนินการในการป้องกันและควบคุมการระบาดอย่างเป็นระบบ ภายใต้แผน BCP ที่มุ่งเน้นใน 3 ประเด็นคือ 1. การป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อภายในเรือนจำ 2. การรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็วและถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อลดความรุนแรงของโรค และ 3. การป้องกันเชื้อจากเรือนจำที่แพร่ระบาดไม่ให้ออกสู่ภายนอก โดยผู้ต้องขังทุกราย จะได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตามมาตรฐานทางการแพทย์และการเมินสถานการณ์เป็นประจำโดย ศบค.ยธ. และ ศบค.รท. รวมถึงการประสานความร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขอยู่เสมอ