9 แนวทางสร้างการเรียนรู้จากนวัตกรรมสู่อนาคต

 

 

พลิกโฉมหลักสูตรอาชีวศึกษาด้วย Digital Platform ตัวอย่างแนวทางการดำเนินงานเพื่อเป็นต้นแบบสาธิต ระยะเวลาเรียนไม่ผูกพันกับวุฒิการศึกษา

 

นายอรรถการ ตฤษณารังสี คณะกรรมการสภาการศึกษา รอง ปธ. คณะกรรมการพัฒนาการศึกษา หอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นโลกแห่งยุค Digital ซึ่งมีนวัตรกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับตัวในทุก ๆ ด้าน จึงทำให้องค์ความรู้ในปัจจุบันไม่ได้อยู่แค่เพียงในรั้วมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาแต่เพียงอย่างเดียว แต่องค์ความรู้สามารถสืบค้นผ่านสื่อต่าง ๆ และผ่านนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ ได้จากทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นจึงเป็นที่มาของแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันทีจากแนวคิดในการพลิกโฉมด้วย Digital Platform เพื่อเป็นการเปิดโอกาสด้านการศึกษาของชาติเพื่อปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคต และเพื่อสอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตรกรรม (อว) โดยการจัดการเรียนการสอนร่วมกับการฝึกงานหรือฝึกวิชาชีพ อาทิ หลักสูตร WINS สหกิจศึกษา ทวิภาคี ทวิศึกษา หรือการเรียนการสอนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เป็นต้น

 

นายอรรถการ กล่าวต่อว่า ดังนั้นขอเสนอ 9 แนวทางเพื่อเป็นการสร้างการเรียนรู้แนวใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพ เพิ่มจำนวนผู้เรียน ประหยัดงบประมาณ ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาโดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1.​การเรียนรู้ในยุคใหม่ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการควรจัดหาครูอาชีวะระดับวิชาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขานอกระบบหรือจากสถานประกอบการที่มีนวัตรกรรมและเทคโนโลยีในแต่ละแขนงสาขามาสอนเสริมในระบบการเรียนการสอนของอาชีวศึกษา โดยจัดการเรียนการสอนเป็นรายชั่วโมงตามความเหมาะสมของแต่ละหลักสูตร

 

2.​จัดเวลาให้ครูผู้สอนที่อยู่ในระบบอาชีวศึกษาได้ฝึกวิธีการปฏิบัติกับครูอาชีวะระดับวิชาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาหรือแลกเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนซึ่งเป็นการ Up Skill และ Re Skill Non-degree Credit bank ของครูผู้สอนที่อยู่ในระบบอาชีวศึกษาให้มีทักษะที่ทันสมัยอยู่เสมอ

 

3.​ปรับกฎระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย ให้มีความสอดคล้องก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงโดยเน้นให้ส่งเสริมการเรียนรู้และเกิดการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำไปสู่การเรียนรู้ในยุคอนาคต

 

4.​มีระบบการเทียบโอนความรู้ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ มาตรฐานฝีมือแรงงาน(กระทรวงแรงงาน)กรอบคุณวุฒิวิชาชีพ สภาวิชาชีพ และ ตามมาตรฐานการศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อนำนักศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบได้มีโอกาสพัฒนาสมรรถนะ ลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาและเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

5.​นำหลักสูตรภาคทฤษฎีมาสอนเสริมโดยจัดทำในรูปแบบสื่อการเรียนการสอนแบบออนไลน์เพื่อให้นักศึกษาอาชีวะศึกษาสามารถใช้เวลาเรียนได้ในทุกสถานที่โดยมีการกำกับตรวจสอบการเข้าเรียนผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ตามแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เป็นที่นิยม อาทิ การใช้ระบบ ZOOM ในการเข้าเรียน เป็นต้น

 

6.​มีระบบการทดสอบสมรรถนะของนักศึกษาสู่การปฏิบัติตามมาตรฐานการศึกษาชาติ

 

7.​หลักสูตรลักษณะนี้จะลดเวลาการสอนของครูผู้สอนที่อยู่ในระบบอาชีวศึกษาแต่จะสามารถขยายจำนวนการสอนให้นักศึกษาได้ครั้งละจำนวนมากๆ และจะมุ่งเน้นการเรียนแบบลงมือปฏิบัติและใช้ครุภัณฑ์หรืออุปกรณ์ที่มีอยู่ในสถาบันแทนเพื่อให้เกิดการบูรณาการของนักศึกษาเพื่อนำไปใช้งานได้อย่างแท้จริง

 

8.​ช่วยประหยัดระยะเวลาในการเรียนภาคปกติเนื่องจากใช้ระบบการเรียนการสอนภาคทฤษฎีผ่านระบบออนไลน์ แต่จะเน้นในส่วนภาคปฏิบัติที่จะดำเนินการฝึกปฏิบัติในชั่วโมงเรียนปกติหรือสามารถเพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนภาคปฏิบัติให้มากขึ้น ช่วยลดงบประมาณการใช้จ่าย และสามารถเพิ่มจำนวนการรับนักศึกษาได้เพิ่มขึ้น

 

9.​การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติงานจริงทำให้ผู้เรียนสามารถออกปฏิบัติหน้าที่และทำงานหารายได้เพื่อช่วยเหลือครอบครัวได้พร้อมๆ กัน ทำให้ไม่เสียโอกาสทั้งการเรียนและการประกอบอาชีพ

 

ทั้งเพื่อให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยแนวทางที่นำเสนอนี้เป็นแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ทันที และใช้ระยะเวลาอันสั้น ลดการใช้งบประมาณและเพิ่มศักยภาพของบุคลากรนายอรรถการ กล่าว

 

Related posts