กรมราชทัณฑ์ จับมือ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงนาม MOU สร้างความปลอดภัยให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เน้นย้ำลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
วันนี้ (9 พ.ย.64) เวลา 14.40 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ชั้น 12 ถ.รัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยนายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอัยการสูงสุด และว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่ปลอดภัยด้านสุขอนามัย ระหว่าง กรมราชทัณฑ์ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกรมราชทัณฑ์ และสำนักงานศาลยุติธรรมครั้งนี้ เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ต้องขังภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นสำคัญ โดยเฉพาะการสนับสนุนมาตรการความปลอดภัยของสำนักงานศาลยุติธรรมในการคัดกรองผู้มาติดต่อราชการที่ศาล การจำกัดบุคคลที่อยู่ในห้องพิจารณา การจำกัดการเยี่ยมอย่างใกล้ชิดกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และบุคคลอื่น เป็นต้น รวมถึงความร่วมมือในการส่งตัวผู้ต้องขังตามกำหนดนัดของศาล เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการไต่สวน ฝากขัง รวมถึงกรณีอื่น ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หรือหากมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องขังมายังศาลได้ กรมราชทัณฑ์ก็พร้อมดำเนินการจัดให้ผู้ต้องขังได้รับการพิจารณาคดีผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทน ถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายเน้นหนัก “Next Normal” ของกรมราชทัณฑ์ ในปีงบประมาณ 2565 ทั้งทางด้านการนำระบบเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ และการบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันจะช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงความยุติธรรมด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย อีกทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้าสู่เรือนจำผ่านผู้ต้องขังที่ออกไปพิจารณาคดีที่ศาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน นำตัวผู้ต้องขังออกไปภายนอกเรือนจำได้อีกทางหนึ่งด้วย
“กรมราชทัณฑ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะขยายขอบเขตความร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรมในอนาคตเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาล เพื่อให้สามารถเข้าใจพฤติการณ์สาเหตุการกระทำผิด อันจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพฤตินิสัยและแก้ไขบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังให้เหมาะสม สอดคล้องกับหลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาต่อไป” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว