ราชทัณฑ์-คุมประพฤติ-พินิจ จับมือ กยศ. ปรับโครงสร้างหนี้ผู้ก้าวพลาด-ปลดทุกข์ผู้ค้ำประกัน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 17 พ.ค.67 ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 10 กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงยุติธรรม ระหว่าง กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยมี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เข้าร่วมในพิธี

โดยพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) กล่าวว่า จุดกำเนิดของโครงการเริ่มต้นจากจังหวัดขอนแก่นที่ได้เห็นผู้ต้องราชทัณฑ์มาโชว์การแสดงให้กำลังใจประชาชนในงานมหกรรมแก้หนี้ฯ จึงเกิดความคิดว่าในเรือนจำมีผู้เป็นหนี้ กยศ.หรือไม่ ซึ่งทางผู้บัญชาการเรือนจำกลางขอนแก่น ได้ตรวจสอบพบว่ามีประมาณ 200 กว่าราย จึงต้องการแก้ไขปัญหา ซึ่งทาง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ และ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้รับทราบและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงดำเนินการหารือกับทางผู้จัดการ กยศ. ในการแก้ปัญหา จึงนับว่าเป็นเรื่องดีและเกิดโครงการในวันนี้ ทำให้คนกลุ่มนี้ได้ปลดทุกข์ให้กับผู้ค้ำซึ่งเป็นพ่อ แม่ ภรรยาหรือญาติได้

ด้านนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรม มีภารกิจเกี่ยวกับการควบคุม แก้ไข และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักหลักสิทธิมนุษยชน สอดคล้องมาตรฐานสากลและแก้ไข ฟื้นฟูพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการจัดการศึกษาผู้ต้องขังเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ ในระหว่างต้องโทษ ตั้งแต่ระดับผู้ไม่รู้หนังสือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอก ในปัจจุบัน พบว่า มีผู้ต้องขังที่ต้องโทษ และยังเป็นหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษากว่า 4,000 ราย มียอดหนี้รวมกว่า 180 ล้านบาท เฉลี่ยรายละประมาณ 45,000 บาท

นายสหการณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษที่เป็นหนี้ กยศ. เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินงานตามโครงการความร่วมมือ รวมถึงเพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ต้องขังที่เป็นหนี้ กยศ. เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนให้เป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ตลอดจนการจัดการอบรมส่งเสริมความรู้ด้านการวางแผนการบริหารจัดการการเงิน ให้แก่ผู้ต้องขังเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้เทคนิคและวิธีการวางแผนจัดการเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างเหมาะสม และต่อยอดไปสู่การจัดการด้านการเงินเพื่ออนาคต

“ผลจากการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการหนี้ให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืม ที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืน และยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับอุดมศึกษา ซึ่งผู้ต้องขังต้องออกค่าใช้จ่ายเอง อีกทั้งยังได้รับโอกาสเข้ารับการอบรมส่งเสริมความรู้ด้านการวางแผนการบริหารจัดการการเงิน เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้เทคนิคและวิธีการวางแผนจัดการเงินอย่างเป็นระบบ สามารถบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างเหมาะสม และต่อยอดไปสู่การจัดการด้านการเงินเพื่ออนาคต และจะช่วยให้ผู้ต้องขังได้ลดความวิตกกังวล จากภาวะหนี้จากการกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ลดภาระให้แก่ครอบครัวของผู้กู้ยืม และสร้างโอกาส ทางการศึกษา อบรม และเรียนรู้ แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด เพื่อให้ผู้พ้นโทษกลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายสหการณ์ กล่าว

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ระหว่าง กรมคุมประพฤติ โดย นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ และ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดย นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ถูกคุมความประพฤติที่เป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. จำนวนกว่า 12,500 ราย เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ถูกคุมความประพฤติและช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนให้ กยศ. เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนให้กู้ยืมแก่นักเรียนหรือนักศึกษารุ่นต่อไป รวมทั้งการจัดการอบรมส่งเสริมความรู้ด้านการวางแผน การบริหารจัดการการเงินให้แก่ผู้ถูกคุมความประพฤติ เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ เทคนิค และวิธีการวางแผนจัดการการเงินอย่างเป็นระบบ

Related posts