โลกเหลือ Carbon Budget 380 พันล้านตัน ก่อนอุณหภูมิเพิ่มเกิน 1.5°C ทรู ดิจิทัล พาร์ค ผนึกพันธมิตร เร่งระดมความร่วมมือ กู้วิกฤตโลกร้อน ในงาน “Decarbonize Thailand Symposium 2024 : Path to Net Zero Collaboration”
ทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางเทคและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดย นายฐนสรณ์ ใจดี (กลาง) กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ (ซ้ายสุด) ผู้จัดการทั่วไป ร่วมกับ นิวเอนเนอร์จี้ เน็กซัส (ประเทศไทย) โดย นายสแตนลี เอิง ผู้อำนวยการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ที่ 2 จากขวา) จัดสัมมนาครั้งใหญ่แห่งปี “Decarbonize Thailand Symposium 2024 : Path to Net Zero Collaboration” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 รวมพลังเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ร่วมด้วย เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย โดย นายประดิษฐ์ มหาศักดิ์ศิริ (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจเกิดใหม่ และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย ดร.ปิยาภรณ์ ภาสกานนท์ (ขวาสุด) หัวหน้าสายงานด้านการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร พร้อมด้วยหลากหลายพันธมิตรองค์กรชั้นนำจากทั้งในและต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยี พร้อมเปิดเวทีให้สตาร์ทอัพร่วมโชว์เคสนวัตกรรม Climate Tech กระตุ้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า จากความสำเร็จในการจัดงาน Decarbonize Thailand Symposium 2022 ซึ่งเป็นครั้งแรกเพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้มีบริษัทยักษ์ใหญ่สนใจร่วมงานเป็นอย่างมาก ทรู ดิจิทัล พาร์ค จึงเดินหน้านำศักยภาพระบบนิเวศครบวงจรสำหรับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเทค สร้างคอมมูนิตี้เชื่อมโยงความร่วมมือในแก้ไขปัญหาดังกล่าว จัดงาน “Decarbonize Thailand Symposium 2024 : Path to Net Zero Collaboration” เป็นปีที่ 2 โดยเน้นการอัปเดตนวัตกรรมโซลูชันจากสตาร์ทอัพทั่วโลก นอกจากนี้ ยังผลักดันการเติบโตของสตาร์ทอัพ Climate Tech ผ่านความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการจัดโครงการและกิจกรรมที่จะสร้างพลังเครือข่าย กระตุ้นให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยโฟกัส 4 กลุ่มนวัตกรรม Climate Tech ที่น่าจับตามอง ได้แก่ E-Mobility เช่น EV และระบบขนส่ง, Decarbonization เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการคาร์บอน และคาร์บอนเครดิต, AgriTech เช่น ระบบบริหารจัดการน้ำ เชื้อเพลิงชีวภาพ และวัตถุดิบทางเลือก และ Energy เช่น การบริหารจัดการพลังงาน และพลังงานหมุนเวียน
โอกาสและความท้าทาย บนเส้นทางสู่ Net Zero
ในงาน “Decarbonize Thailand Symposium 2024 : Path to Net Zero Collaboration” นอกจากการบรรยายพิเศษ อัปเดตเทรนด์โลกและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพอากาศ จากเหล่าวิทยากรผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังมีหลากหลายองค์กรชั้นนำและสตาร์ทอัพ Climate Tech ร่วมพูดคุยถึงโอกาสและความท้าทายในการเดินทางสู่ Net Zero โดยในช่วงเสวนาหัวข้อ “Decarbonization 101 Deep Dive: Exploring Cutting-Edge Strategies for a Sustainable Future”
ผู้แทนจาก เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์และนวัตกรรมโมบิลิตี้แห่งอนาคต ได้กล่าวถึงการเลือกวัสดุในขั้นตอนการผลิต ว่า ไม่ได้มองที่ต้นทุนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย ส่วนภาคการผลิตก็ต้องปล่อยคาร์บอนให้ต่ำที่สุดหรือเป็นศูนย์ เมื่อนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาประกอบเป็นรถยนต์ก็ต้องช่วยลดคาร์บอนได้ รวมถึงการพัฒนาด้านอีวี หรือ เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cells) ด้วย
ด้านผู้แทนจาก เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เผยถึงอีกด้านของโอกาสว่า ยุคนี้ผู้ที่ปรับตัวได้ก่อนก็สามารถเป็นผู้กำหนดสร้างกฎเกณฑ์ข้อตกลงได้ก่อน เช่น ราคาคาร์บอนเครดิต โดยภาคธุรกิจต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้งความยั่งยืนยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ในการเลือกทำงาน เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ยั่งยืนที่จะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ซึ่งในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสสำหรับสตาร์ทอัพที่มาพร้อมโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เสมอ
สำหรับประเด็นด้านความเสี่ยงขององค์กรและประชาชนทั่วไป เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ไทยแลนด์ ให้มุมมองถึงปัญหาที่ทุกคนเจอโดยไม่รู้ตัว คือ ภาษีคาร์บอน ผ่านการซื้อรถยนต์ ค่าไฟ และอาหารการกิน เป็นต้น เดลต้าได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2015 ด้วยการประกาศคำมั่นสัญญาผ่านธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง พร้อมใช้พลังงานสีเขียวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เป็นต้น
ส่วนองค์กรสตาร์ทอัพ ALTOTECH GLOBAL เผยว่า ในการตั้งเป้าลดการใช้พลังงาน การนำข้อมูลมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น ระบบอาคาร ที่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ของอาคารที่ใช้ข้อมูลร่วมกัน ก็เป็นอีกโอกาสที่อยากพัฒนาให้เกิดขึ้น
ด้าน ALTERVIM เผยถึงมุมของสตาร์ทอัพ คือ มักจะมุ่งสร้างเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาระดับประเทศ แต่หลังจากได้ร่วมงานกับคอร์ปอเรต ทำให้เห็นว่าความร่วมมือที่แท้จริงจะต้องช่วยขับเคลื่อนเอสเอ็มอีต่าง ๆ ซึ่งเป็นหน่วยเล็ก ๆ ด้วย มิติเหล่านี้ไม่ได้มองแค่ตัวเลขทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องส่งผลต่อการจ้างงาน สังคม และประเทศชาติ ได้ด้วย
กู้วิกฤต Climate Change ต้องเปลี่ยนที่คนเป็นอันดับแรก
นายบุญรอด เยาวพฤกษ์ กรรมการบริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด องค์กรที่ปรึกษาที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยประเทศไทยและโลกไปสู่ Net Zero Economy รวมถึงได้ก่อตั้ง Climate Academy เผยว่า แนวโน้มอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมมายาวนานทุกปีๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยเหลือ Carbon Budget อยู่ 380,000 ล้านตัน ก่อนที่อุณหภูมิจะเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จนเกิดแคมเปญ Net Zero ทั่วโลกต่าง ๆ ขึ้นตั้งแต่สนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) จนถึงปัจจุบันคือ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) และยังให้มุมมองเรื่อง Climate Change ว่าอันดับแรกผู้คนต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองแต่พฤติกรรมบุคคลนั้นเปลี่ยนได้ยาก อาจจะต้องมีบทลงโทษหากทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้ 2 กลไก ได้แก่ 1. ETS Immigration Trading Screen สำหรับหน่วยงานขนาดใหญ่ที่กำหนดโควต้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากปล่อยเกินต้องไปหาโควต้าจากที่อื่น และ 2. การเก็บภาษีคาร์บอน ที่จะสามารถช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตได้
ทั้งนี้ นายบุญรอด ได้ให้มุมมองในการทำ Net Zero Economy ว่า การทำธุรกิจหากเข้าใจแลนด์สเคปจะได้เปรียบมากกว่า โดยมีสิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ เทคโนโลยีไหนกำลังมา ทรัพยากรที่ถูกใช้มากที่สุดคืออะไร โดยในปัจจุบันอันดับแรก ได้แก่ น้ำ และรองลงมาคือ คอนกรีต จะมีวัสดุไหนมาทดแทนได้หรือไม่ หรือแม้แต่ไฟฟ้าทั้งหมดหากมีจุดกำเนิดมาจากพลังงานสะอาดจะต้องทำอย่างไร เป็นต้น