ส.เรือใบ จับมือ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ MOU ร่วมพัฒนาด้านวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์

สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ในการพัฒนากีฬาเรือใบและนักกีฬาเรือใบ

 

พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย นายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย พล.ร.ท.ประทีป ตังติสานนท์ เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ /ผู้แทนกองทัพเรือ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ในการพัฒนากีฬาเรือใบและนักกีฬาเรือใบ ระหว่าง สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ณ ห้องประชุมนารายณ์ทรงสุบรรณ อาคาร 5 กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ร.อ.ธานี ผุดผาด อุปนายกสมคมฯ พล.ร.อ.สมชาย ณ บางช้าง พล.ร.ต.กิตตินันท์ งามศิลป์ รองเจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ พล.ร.ต.พัฒนชัย เฉลิมวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ตลอดจน คณะผู้บริหารสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ และ คณะผู้บริหารโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

 

การลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการ การวิจัย และการบริการวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกีฬาเรือใบ โดยมุ่งเน้นการนำความรู้ทางวิชาการและการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนากีฬาเรือใบ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานการฝึกซ้อมและการแข่งขัน รวมถึงการดูแลสุขภาพของนักกีฬาอย่างเป็นระบบ โดยหวังว่าจะส่งผลให้นักกีฬาเรือใบไทยสามารถสร้างผลงานก้าวสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ในการพัฒนากีฬาเรือใบและนักกีฬาเรือใบ มีแนวความคิดในการศึกษา ดังนี้

1. การศึกษาด้านสรีรวิทยาของนักกีฬาเรือใบ เพื่อเข้าใจการตอบสนองทางสรีรวิทยาในสภาวะต่าง ๆ ขณะแข่งขัน เช่น การศึกษาอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกาย และการตอบสนองทางเมตาบอลิซึม (metabolism) ในสภาพอากาศร้อน

2. การพัฒนาโปรแกรมการฝึกซ้อมเฉพาะทาง โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์การกีฬา เช่น การฝึกความแข็งแรง ความทนทาน และความยืดหยุ่น เพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางกายของนักกีฬา

3. การพัฒนาอุปกรณ์และเทคโนโลยีเฉพาะทาง เช่น เสื้อผ้าที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกาย หรืออุปกรณ์วัดสัญญาณชีพขณะแข่งขัน

4. การศึกษาด้านโภชนาการเฉพาะสำหรับนักกีฬาเรือใบ เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพและการฟื้นตัว

5. การวิจัยด้านจิตวิทยาการกีฬา เพื่อพัฒนาทักษะทางจิตใจ เช่น การจัดการความเครียด การสร้างสมาธิ และแรงจูงใจ

6. การพัฒนาโปรแกรมป้องกันและฟื้นฟูการบาดเจ็บเฉพาะทางสำหรับนักกีฬาเรือใบ

7. การใช้เทคโนโลยีจำลองสถานการณ์ (virtual sailing) ในการฝึกซ้อมและการฟื้นฟูสมรรถภาพ

สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มั่นใจว่า การร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับมาตรฐานการฝึกซ้อม การแข่งขัน และการดูแลสุขภาพของนักกีฬาเรือใบอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้นักกีฬาสามารถพัฒนาศักยภาพและสร้างผลงานที่โดดเด่นในระดับนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย รวมทั้งสร้างความสุขให้กับประชาชนชาวไทย

Related posts