วันนี้ (29 มี.ค.64) พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือ ต.114 และเรือ ต.115 จำนวน 2 ลำ ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พล.ร.อ.วศินสรรพ์ จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พล.ร.ต.สุเทพ ลิมปนันท์วดี ผู้บัญชาการกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ตลอดจนข้าราชการกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเช้า พล.ร.อ.วศินสรรพ์ จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ร่วมด้วย คณะกรรมการร่วม กองทัพเรือ และ บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีพิธีบวงสรวง เพื่อความเป็นสิริมงคล ณ ศาลพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แหลมปู่เจ้า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
กองทัพเรือ ได้ดำเนินการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำ เพื่อใช้ในภารกิจถวายความปลอดภัยแด่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ การลาดตระเวนตรวจการณ์ คุ้มครองเรือประมงและเรือสินค้า ป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในทะเล การรักษากฎหมายในทะเล ตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย
พร้อมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ และการบรรเทาสาธารณภัยให้แก่พี่น้องประชาชนทั้งในทะเลและชายฝั่ง โดยได้ว่าจ้างให้ บริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็น ผู้ดำเนินการ นับได้ว่าเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ โดยแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งทั้งสองลำนี้ ได้รับการพัฒนาปรับปรุงมาจากแบบเรือชุดเรือ ต.111 โดยภายหลังจากพิธีรับมอบเรือแล้ว จะเข้าประจำการที่กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการต่อไป
สำหรับเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.114 และ เรือ ต.115 นี้ สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่อ่าวไทยและทะเลอันดามัน สามารถตรวจจับ ติดตาม และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำได้ด้วยระบบตรวจการณ์ของเรือ มีความคงทนต่อทะเลที่ดีในสภาวะทะเลระดับ 5 (Sea State 5) และปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่องในทะเลได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน
– ขีดความสามารถปฏิบัติการรบ (Combat Capabilities) ของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.114 และเรือ ต.115 สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ระบบตรวจการณ์ของเรือสามารถตรวจจับ ติดตาม และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ หยุดยั้ง ขัดขวาง เรือผิวน้ำ และป้องกันตนเองจากข้าศึกได้ ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ ปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่องในทะเลได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน และปฏิบัติงานได้สภาวะทะเลระดับ 5 (Sea State 5) เรือมีการทรงตัวและความคงทนทะเลที่ดี และยังสามารถสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ได้
– คุณลักษณะทั่วไป มีความยาวตลอดลำ 36.00 เมตร ความกว้างของเรือ 7.60 เมตร ความลึกของเรือ 3.60 เมตร กินน้ำลึกตัวเรือ ไม่เกิน 1.75 เมตร ความเร็วสูงสุดที่ระวางขับน้ำเต็มที่ ไม่ต่ำกว่า 27.0 นอต ระยะปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 1,200 ไมล์ทะเล กำลังพล ประจำเรือตามอัตรา 30+1+13 (ชปพ.นสร.) 44 นาย เครื่องจักร ที่สำคัญประกอบด้วย เครื่องจักรใหญ่ ตราอักษร CUMMINS 1,342KW (1,800bhp) 1,900rpm จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องกำหนดไฟฟ้า ขนาด 112KWe 380VAC, 3PH, 50HZ จำนวน 2 เครื่อง
อาวุธประจำเรือ อาวุธปืนหลัก ปืนกลขนาด 30 มม. ติดตั้งบริเวณหัวเรือ จำนวน 1 แท่น และอาวุธรอง ปืนกลขนาด 50 นิ้ว ติดตั้งบริเวณกราบเรือซ้ายขวา จำนวน 2 แท่น
พิธีรับมอบเรือ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล ได้เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่พบหลักฐานที่แน่นอน แต่เมื่อปี พ.ศ.2451 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพิธีมอบเรือเสือทยานชล เรือตอร์ปิโดที่ 1 เรือตอร์ปิโดที่ 2 และเรือตอร์ปิโดที่ 3 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2451 จากนายทหารเรือญี่ปุ่น โดยนำเรือทั้ง 4 ลำ ซึ่งต่อจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามายังกรุงเทพ ฯ
ในปัจจุบันเมื่อถึงเวลารับมอบเรือจะต้องทำพิธีเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน โดยบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
จากนั้นประธานกรรมการบริหารโครงการ (พล.ร.อ.วศินสรรพ์ จันทวรินทร์) กล่าวรายงานความเป็นมาในการสร้างเรือ ประธานบริษัทผู้สร้างเรือ (นายภัทรวิน จงวิศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาร์ซัน จำกัด มหาชน) กล่าวมอบเรือ ประธานในพิธี (พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ) กล่าวรับมอบเรือและรับมอบเอกสารแล้วส่งต่อให้ ผู้บัญชาการกองเรือ (พล.ร.ต.สุเทพ ลิมปนันท์วดี ผู้บัญชาการกองเรือยามฝั่ง) กำลังพลประจำเรือเชิญธงราชนาวีขึ้นสู่ยอดเสาแล้วกล่าวคำปฏิญาณว่า “ตายในสนามรบเป็นเกียรติของทหาร” ประธานในพิธีทำพิธีคล้องมาลัยและผู้ผ้าสามสีที่หัวเรือ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่หัวเรือ เพื่อความเป็นสิริมงคล