ส.ส.พปชร. ขอ “รมว.ยุติธรรม” มอบ “กรมราชทัณฑ์” รับซื้อผลผลิต ฟักทอง พริก ฟักเขียวเกษตรกรพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โดยเฉพาะฟักทอง กว่า 4,000 ตัน เพื่อใช้ในการประกอบอาหารเลี้ยงผู้ต้องขังในเรือนจำ หวังช่วยแก้ปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำและผู้ต้องขังได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์คุณภาพสูงตามฤดูกาล หลังกลไก “เกษตรผลิตพาณิชย์ทำการตลาด” ไม่ได้ผล พร้อมวางแผนระยะยาว รวมกลุ่มเกษตรกรแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต
นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องเกษตรผู้ปลูกฟักทอง ในพื้นที่ 3 อำเภอลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ อ.เชียรใหญ่ อ.หัวไทร และอ.ปากพนังซึ่งมีผลผลิตต่อฤดูกาลประมาณ 4,000-5,000 กก. เรื่องพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อผลผลิตจนจำเป็นต้องขายในราคาขาดทุน
“จากข้อมูลพบว่า มีกลุ่มนายทุน ในตลาดกลางนครศรีฯ ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลาง ได้นำเมล็ดพันธุ์ฟักทอง และปุ๋ยมาให้เกษตรกร พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่ โดยสัญญาว่าจะรับซื้อผลผลิตในราคาดี แต่เมื่อผลผลิตออกมาแล้วกลับรับซื้อในราคาที่ต่ำกว่าทุน คือ ราคาหัว (ฟักทองที่มีน้ำหนักเกิน 6 กก./ผล ก่อนหน้านี้ตามมาตรฐาน 5 กก.ปรับขึ้นมา 1 กก.) กก.ละ 4 บาท ราคาขนาดกลาง (ฟักทองที่มี 6 กก.ลงมา) กก.ละ 3 บาท และไม่รับซื้อ ฟักทองที่มีลักษณะบิดเบี้ยว รูปทรงไม่สวยงาม จากก่อนหน้านี้เคยรับซื้อที่ 3 บาท
กลไกการรับซื้อดังกล่าวทำให้เกษตรเดือดร้อน เนื่องจากขายผลผลิตได้ในราคาต่ำกว่าทุนที่อยู่ประมาณ กก.ละ 5-6 บาท ขณะที่ผลผลิตบางส่วนจำเป็นต้องทิ้ง” นายสัณหพจน์ กล่าว
นายสัณหพจน์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น ตนเตรียมนำข้อเดือดร้อนดังกล่าวของเกษตรกร เข้าหารือร่วมกับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อประสานให้กรมราชทัณฑ์ โดยเฉพาะเรือนจำในพื้นที่ภาคใต้ ได้เข้ามารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง นำไปใช้ประกอบอาหารให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งจะได้วัตถุดิบประกอบอาหารที่มีคุณภาพดี ตรงตามฤดูกาลให้กับผู้ต้องขัง และสามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเกษตรกร ในเบื้องต้น
สำหรับข้อเสนอดังกล่าว สืบเนื่องมาจากปัจจุบันกลไกของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ที่ว่า “เกษตรผลิต พาณิชย์ทำการตลาด” วันนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ เนื่องจากการแทรกแซงของนายทุน และพ่อค้าคนกลาง ดังนั้นต่อจากนี้จึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ และนโยบายใหม่
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของ “พริกเขียวหัวไทร” หรือพริกขี้หนูดวงมณี ซึ่งขณะนี้ ตนได้ประสานผู้ส่งออกโดยตรงในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ขณะที่ในระยะกลางได้เตรียมพื้นที่ สหกรณ์การเกษตรหัวไทร เพื่อรองรับห้องเย็นประมาณ 50 ตู้ ขนาดบรรจุ 28ตัน/ตู้ ซึ่งจะช่วยรักษาผลผลิตในช่วงที่ราคาตกต่ำก่อนที่จะนำออกมาขายเมื่อราคากลไกตลาดเข้าสู่ภาวะปกติ โดยห้องเย็นดังกล่าวจะสามารถรักษาผลผลิตของเกษตรกร และอาหารทะเลให้สดใหม่ เพื่อรอจำหน่ายต่อไปได้
“ขณะเดียวกันตนได้เตรียมประสานกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แนะนำการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างรายได้ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรต่อไป” นายสัณหพจน์ กล่าว