นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล รองประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คนที่ 1 เปิดเผยว่า ด้วยผลจากการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 ก.ค.64 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้เพิ่มรายชื่อสถาบันการเงินที่กองทุนฟื้นฟูฯสามารถเข้าไปซื้อหนี้ได้ คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย บริษัทบริหารสินทรัพย์แอคนรีทีพี่ (ไทยแลนด์) บริษัทเงินทุนศรีสวัสดิ์ บริษัทบริหารสินทรัพย์พหลโยธิน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรสมาชิก ที่ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนถึง 600,000 กว่าราย จากองค์กรเกษตรกร 50,000 กว่าองค์กร สามารถเข้าไปจัดการหนี้ได้ถูกต้องตามกฏหมายและระเบียบปฏิบัติ
“การที่กองทุนฟื้นฟูฯได้นำเสนอเพื่อขอมติเห็นชอบและอนุมัติ เป็นการดำเนินการตามหลักการที่ว่า ที่เคยได้อยู่ก็จะไม่หาย เพราะที่ผ่านมานั้น ประสบปัญหาว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ ได้มีการตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อเพื่อรับในส่วนของหนี้เสียไปบริหารจัดการ ลูกหนี้ที่เกษตรกรสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูฯ จึงประสบปัญหาว่า รายชื่อถูกตัดออกทำให้เกิดปัญหาในการเข้าไปช่วยจัดการหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ เพราะตามระเบียบนั้น การที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะสามารถเข้าไปจัดการได้ ต้องเป็นหนี้ที่คณะกรรมการจัดการหนี้ประกาศให้เป็นเจ้าหนี้ในระบบ แต่พอมีการดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวขึ้น จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา จึงนำมาสู่การขออนุมัติดังกล่าวเพื่อการรักษาที่ดินทำกินไว้ให้กับเกษตรกร”
นายยศวัจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนความคืบหน้าของการจัดสรรงบประมาณ และการขอแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ของ กฟก. วงเงิน 9,718 ล้านบาท ประกอบไปด้วย งบบริหารสำนักงาน 1.7 พันล้านบาท งบเพื่อการฟื้นฟู จำนวน 4 พันล้านบาท และงบเพื่อการจัดการหนี้เกษตรกร 4 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยสำนักงบประมาณจะต้องนำเสนอผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นผู้เสนองบประมาณ หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ขั้นตอนต่อไปจะเข้าการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในส่วนของคณะกรรมาธิการ 9
“หากการขอจัดสรรงบประมาณของปี 2565 ได้รับการอนุมัติจะทำให้กองทุนฟื้นฟูฯ มีงบประมาณเพียงพอต่อการดำเนินงานไปถึง 3 ปี เพราะจะนำมาเป็นทุนหมุนเวียนในการช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิก ที่ผ่านมานั้นกองทุนฟื้นฟูฯ ถูกมองว่า ไปทำให้เกษตรกรเสียวินัยทางการเงินกับสถาบันการเงิน กลายเป็นโจทย์ของสถาบันแทน ตรงนี้ต้องขออธิบายว่า กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นเพียงผู้เข้ามาแก้ปัญหาระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ที่ตกลงกันไม่ได้แล้วเกิดปัญหา และส่งผลให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทำกิน เกษตรกรต้องเผชิญชะตากรรมที่มีชีวิตเป็นเกษตรกรแต่ไม่มีที่ดินเพื่อที่จะทำการเกษตร เป็นแค่ลูกจ้างที่ทำการเกษตร ดังนั้นสิ่งที่กองทุนฟื้นฟูฯ ต้องการคือ การแก้ปัญหาหนี้รักษาที่ดินจากนั้นสนับสนุนด้านฟื้นฟูอาชีพให้ยังคงต่อไปได้” นายยศวัจน์ กล่าวในที่สุด