“ปรเมษฐ์” ขอบคุณ 7 ก.ต. ที่ให้ความเป็นธรรมใช้สิทธิสู้ต่อเพื่อความถูกต้อง แนะรื้อกติกาใหม่

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีวาระการประชุมคณะกรรมการตุลาการครั้งที่ 23/2564 โดยก่อนการลงมติ นางเมทินี ชโลทร ประธานศาลฎีกา ได้ออกจากที่ประชุม เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยถูกนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ผลการประชุมคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) โดยมี นางวาสนา หงส์เจริญ รองประธานศาลฎีกา ดำเนินการเป็นประธานที่ประชุมแทนชั่วคราว เกี่ยวกับวาระการพิจารณาว่านายปรเมษฐ์จะได้ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสหรือไม่ โดยผลการลงมติครั้งแรก ก.ต. มีมติ 7 ต่อ 7 เสียง ทำให้ประธานในที่ประชุมต้องลงมติชี้ขาดว่า ไม่เห็นชอบ 8 ต่อ 7 ให้นายปรเมษฐ์ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสนั้น

นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณ ก.ต. 7 ท่านเป็นอย่างสูง ที่ให้ความเป็นธรรม ส่วน ก.ต. อีก 7 ท่านที่มีส่วนในการพิจารณาแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสนั้น ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส ฉบับที่ 4 พ.ศ.2560 มาตรา 6/1 มาตรา8/1 และมาตรา 9 เพราะการได้รับความเสียหายเช่นนี้ ยากที่จะเยียวยาในภายหลัง โดยตนจะพิจารณาใช้สิทธิ์ตามกฎหมายและสิทธิทางศาลต่อไป

เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ต้องแต่งตั้งให้ข้าราชการตุลาการผู้นั้นเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส ในกรณีที่ใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 25 และมาตรา 4 คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิเสรีภาพได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และปวงชนชาวไทยได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาคกัน

ส่วนกรณีที่จำเลยในคดีหมายเลขคดีดำ อท84/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 (นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรรมการ ป.ป.ช.และอัยการสูงสุด (พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. จำเลยที่ 1 น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. จำเลยที่ 2 นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด จำเลยที่ 3) กระทั่งมาร้องขอโอนคดี ตนในฐานะอธิบดี และในฐานะเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน มีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ถูกคำสั่งให้ย้ายไปช่วยราชการ และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดำเนินการสอบสวน โดย ความเร่งรีบและด่วนสรุปภายในไม่กี่วัน การดำเนินการดังกล่าวกระทำโดยไม่ชอบ และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แล้วเสนอสั่งพักราชการยังเร่งรีบ ด่วนสรุปด้วยความรวดเร็วไม่เคยปรากฏเช่นนี้มาก่อน

“การที่ตนไม่ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในครั้งนี้ ทั้งที่รับราชการมาเป็นเวลากว่า 30 ปีในศาลยุติธรรม ดำรงตำแหน่งต่างๆ มาหลายตำแหน่ง คือผู้พิพากษา หัวหน้าศาล จังหวัดนครสวรรค์, เลขานุการศาลอุทธรณ์ภาค 2, ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะ ในศาลอาญา, รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง, ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะ ในศาลอุทธรณ์ คดีชํานัญพิเศษภาษี, ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1, ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 3 และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 การที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมาโดยตลอดนั้น เห็นว่า น่าจะมีการเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น, การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง, กรณีเสนอพักราชการข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม, คำสั่งให้ไปช่วยราชการชั่วคราวโดยข้าราชการตุลาการไม่ยินยอม และการพิจารณาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยุติธรรมแก่ผู้พิพากษา ตลอดทั้งเป็นแนวบรรทัดฐานและมาตรฐานแก่ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม”

“ในกรณีคดีหมายเลขคดีดำที่ อท.84/2563 ที่มีการร้องเรียนตนว่าแทรกแซงคดี จึงขอให้ย้ายตน รวมทั้งการที่ประธานศาลฎีกาลงนามตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม (คณะกรรมการ คือ นายอนุวัตร มุทิกากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา น.ส.มรกต วัฒนรุ่งเรืองยศ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ นายนรินทร์ ทองคำใส รองเลขานุการศาลฎีกา) มาสอบสวนข้อเท็จจริงในการร้องเรียนของจำเลยบางคนในคดีหมายเลขคดีดำ อท.84/2563 โดยไม่ชอบ เป็นการรับฟังพยานหลักฐานเพียงฝ่ายเดียว รีบร้อน เร่งด่วน ด่วนสรุปเพียงไม่กี่วัน โดยนำพยานหลักฐานต่างๆ ที่เป็นผลร้ายมารับฟังด่วนสรุป และยังไม่ได้ฟังตนชี้แจงและนำพยานหลักฐานต่างๆ เข้าสืบแก้ในข้อที่เป็นผลร้าย โดยไม่ชอบตามประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมนั้น หากพยานใดให้ถ้อยคำที่เป็นผลร้าย บิดเบือน ไม่ตรงตามความเป็นจริง ตนจะดำเนินการตามกฎหมายและใช้สิทธิทางศาลต่อไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข่วงที่ผ่านมานายปรเมษฐ์ ได้ฟ้องประธานศาลฎีกา สองคดีคือ คดีแรก ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และคดีที่สอง ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ มาตรา 45 ที่ระบุว่าในการประชุม กต. ห้ามมิให้กรรมการ ผู้มีส่วนได้เสีย ในเรื่องพิจารณาเข้าร่วมประชุมและลงมติในเรื่องนั้น เพราะโดยปกติกรรมการผู้มีส่วนได้เสียย่อมต้องรู้ดีว่า ย่อมไม่สมควรเข้าไปประชุมและลงมติที่เป็นผลร้ายแก่คู่กรณีที่มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปรเมษฐ์ ยังได้ฟ้องคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น (นายอนุวัตร นส.มรกต และนายนรินทร์)ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และได้ฟ้อง นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ปปช. ที่ศาลจังหวัดสระบุรี ในฐานความผิดดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198

Related posts