สตง. จับมือ มท.-3 สมาคม อปท. เดินหน้าเปิดตัว “โปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลัง”

นายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงว่า ในวันนี้ (15 มี.ค.67) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การใช้โปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดย นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย โดย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อุปนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย โดย นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย โดย นายสำราญ จันทร์ขจร อุปนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย โดยมี พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดย นางสาวอภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องดำริอิศรานุวรรต สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

นายมณเฑียร กล่าวว่า สตง. ภายใต้นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินระยะยาว (พ.ศ. 2566-2570) และนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปี ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาวินัยการเงินการคลัง การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่อยู่ในการกำกับดูแล รวมทั้งจัดให้มีการประเมินผลการรักษาวินัยการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการรักษาวินัยการเงินการคลังเพิ่มมากขึ้น อันจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างโปร่งใส มีความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561- 2580) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 62

“สตง. ได้พัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลังในรูปแบบของ Web Application ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งสะดวกต่อการใช้งานและสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ และถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญนอกเหนือจากบทบาทด้านการตรวจสอบภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นแบบประเมินการบริหารจัดการการเงินการคลังของหน่วยรับตรวจ ซึ่งถือเป็น Non-audit Products และเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้ประเมินตนเองเบื้องต้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งงบประมาณและการเบิกจ่าย ดังนี้ 1) โครงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายเงินอุดหนุนให้กับหน่วยงานของรัฐ 2) โครงการจัดงานประเพณี และ 3) โครงการส่งเสริมกีฬาหรือการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยแบบประเมินตนเองดังกล่าวมีกรอบการประเมิน 4 หัวข้อ ได้แก่ 1) อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2) แผนพัฒนาท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3) การจัดทำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 4) กฎหมาย ระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติตามแผนการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโปรแกรมดังกล่าว สตง. จึงได้จัดให้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขึ้น เพื่อให้มีแนวทางการประสานความร่วมมือที่ชัดเจนบนฐานความประสงค์ร่วมกันของทุกฝ่าย” นายมณเฑียร กล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานปกครองที่กล่าวได้ว่าอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศรวมแล้ว 7,850 หน่วยงาน มีภารกิจในการให้บริการสาธารณะ การป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยในแต่ละปี มีรายได้ที่ได้รับการจัดสรรสำหรับการดำเนินงาน รวมเป็นเงินประมาณ 760,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 4 ของงบประมาณรายจ่ายของประเทศในแต่ละปี รวมถึงยังมีเงินสะสมรวมกันอีกไม่น้อยกว่า 600,000 ล้านบาท นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังเป็นหนึ่งในกลไกภาครัฐในการขับเคลื่อนธรรมาภิบาล เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการสาธารณะ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยินดีให้ความร่วมมือ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับทราบ และนำโปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลังดังกล่าวไปใช้ในการประเมินตนเองเบื้องต้นเพื่อทราบสถานะในการดำเนินการเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แผนพัฒนาท้องถิ่น การตั้งงบประมาณและการเบิกจ่ายที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การลดข้อบกพร่องในการใช้จ่ายเงิน และเสริมสร้างมาตรฐานในการรักษาวินัยการเงินการคลังตามหลักธรรมาภิบาล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันในการส่งเสริมและพัฒนาระบบการตรวจสอบและการบริหารราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน คือการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เสริมสร้างระบบธรรมาภิบาล เพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว

 

 

 

 

Related posts