“อลงกรณ์” ดึงจีนลงทุน 12 อุตสาหกรรม เส้นทางสายไหม ดันไทยรายได้สูง

อลงกรณ์ โชว์วิสัยทัศน์เวทีเส้นทางสายไหมนานาชาติ ดึงจีนลงทุน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ดันไทยประเทศรายได้สูง

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในการประชุมสุดยอดการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 2024 และงานนิทรรศการสินค้าประเทศตามแนว หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ณ นครอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยนายอลงกรณ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ข้อริเริ่ม อีต้าอีลู่ หรือเส้นทางสายไหม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง One Belt and One Road” ถูกประกาศอย่างเป็นทางการในปี 2013 โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพื่อรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมในอดีตสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ เมื่อกว่า 2 พันปี ก่อนสู่เส้นทางสายไหมใหม่ในศตวรรษที่ 21 เป็นเวลา 11 ปี ที่ประเทศไทยและจีน ได้สร้างความร่วมมือระหว่างกันอย่างเต็มที่ภายในกรอบ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล เกษตรกรรม การค้า และการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ประสบความสำเร็จอย่างดี จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของไทย แหล่งเงินทุนต่างประเทศหลัก และแหล่งนักท่องเที่ยวที่สำคัญอันดับ 1 นอกจากนี้ ไทยและจีนยังคงมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด สร้างความผูกพันที่แน่นแฟ้นและลึกซึ้ง ไทย จีน ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน กลายเป็นประโยคที่เข้าใจกันอย่างแพร่หลายของประชาชนทั้งสองประเทศ

ความสำเร็จของความร่วมมือไทย-จีนในวันนี้ มาจากการที่ทั้งสองฝ่ายยึดมั่นในหลักการของการเคารพซึ่งกันและกัน การให้ความเสมอภาค ผลประโยชน์ร่วมกัน และการร่วมกันสร้างนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังเป็นผลงานที่มาจากความร่วมมือระยะยาวระหว่างภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศที่กำลังดำเนินไปอย่างลึกซึ้ง ความร่วมมือระหว่างไทย-จีน กำลังเผชิญกับโอกาสมากมายมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย (2018-2037) ระบุว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2036 และจะดำเนินการแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (2023-2027) เพื่อเข้าสู่โหมดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG :Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งรวมถึงนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาและเชื่อมต่อระบบดิจิทัล การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เน้นคุณค่าในกรอบ “Thailand 4.0” การพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และการเน้นการถือประชาชนเป็นหลัก โดยเฉพาะการเพิ่มความกระตือรือร้นสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืน เป็นเพราะความสอดคล้องกันระหว่างแนวคิด หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง กับนโยบายการพัฒนาของไทยทำให้เกิดความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่มีศักยภาพสูงในหลาย ๆ ด้าน

 

ในโอกาสนี้ขอเชิญชวนนักลงทุนชาวจีนและนานาประเทศ ให้มาร่วมลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) และเข้าร่วมอย่างกระตือรือร้นใน “12 อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต ของไทย (12 S-CURVES) เช่น การค้าและการลงทุนในสาขาเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การท่องเที่ยวและการแพทย์ อุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น เพื่อเชื่อมโยงกับโอกาสต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และเปิดศักราชใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจไปด้วยกัน

สำหรับการประชุมสุดยอดการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 2024 และงานนิทรรศการสินค้าประเทศตามแนว หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จัดขึ้นที่นครอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 มีตัวแทนจากประเทศไทย คือ นางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย เข้าร่วมประชุมด้วย

Related posts