กรมราชทัณฑ์ ผนึก กรมหม่อนไหม เดินหน้าพัฒนาฝีมือผู้ต้องขัง ส่งเสริมอาชีพปลูกหม่อนไหมและทอผ้าในเรือนจำและทัณฑสถาน

 

วันนี้ (18 ก.พ.64) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม และนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายพัฒนา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการ “ส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมในเรือนจำและทัณฑสถาน” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ต้องขังให้มีความรู้ ความสามารถ จนนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง และครอบครัวภายหลังพ้นโทษ และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข ณ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง และเรือนจำจังหวัดลำพูน

นายอายุตม์ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพหม่อนไหมในเรือนจำและทัณฑสถานฯ เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะเสด็จทรงงานติดตามการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ณ เรือนจำชั่วคราวเขาน้อย อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 28 ส.ค.55 โดยพระองค์ได้ทรงตรัสแก่ผู้บริหารระดับสูงของกรมหม่อนไหมและกรมราชทัณฑ์ ให้ขยายผลโครงการฯ สู่ทัณฑสถานแห่งอื่น จากนั้นศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ เข้าหารือกับทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม ร่วมกับ โครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อบูรณาการส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหมให้แก่ผู้ต้องขัง ซึ่งนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ผ้าไหมไทยแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ต้องขัง สำหรับดูแลตนเองและเลี้ยงดูแลครอบครัวได้อีกด้วย

“การผสานความร่วมมือระหว่างกรมราชทัณฑ์ และกรมหม่อนไหม ในครั้งนี้ มุ่งเน้นส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านหม่อนไหมอย่างครบวงจรและเป็นรูปธรรม ด้วยการพัฒนาทั้งด้านทักษะ ความรู้ ความชำนาญ ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ได้แก่ การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม กระบวนการกลางน้ำ ได้แก่ การทอผ้าไหม การทำลวดลายสีสัน โดยเฉพาะลาย “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความงดงามทางภูมิศาสตร์ และมีอัตลักษณ์ ที่อยู่ระหว่างเสนอเข้ารับตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกระบวนการปลายน้ำ ได้แก่ การแปรรูปผ้าไหม ออกแบบ ตัดเย็บให้เป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่มที่มีความร่วมสมัย ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการแปรรูปผลผลิตอื่นๆ อาทิ ชาใบหม่อน แยมมัลเบอร์รี่ น้ำลูกหม่อน เพื่อจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ งานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ประจำปี งานตรานกยูงพระราชทานประจำปี รวมทั้งผ่านสื่อออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก, ไลน์ และการจำหน่ายใบสด ให้กับเอกชนเพื่อนำไปแปรรูปต่อ” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว

นายอายุตม์ กล่าวอีกว่า กรมราชทัณฑ์ มีความพร้อมทั้งด้านกายภาพ ภูมิศาสตร์ และประชากรศาสตร์ เพราะมีผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ ที่พร้อมรับการฝึกอบรม โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมหม่อนไหม ให้ศูนย์หม่อนไหมในพื้นที่ดำเนินการอบรม ให้คำแนะนำปรึกษาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่ผู้ต้องขัง เมื่อพ้นโทษไปแล้ว ผู้ต้องขังเหล่านี้ จะสามารถนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดเพื่อประกอบเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข โดยไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก ตลอดจนเป็นการการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน สมดั่งเจตนารมณ์ของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมสืบไป

ด้าน นายปราโมทย์ กล่าวว่า กรมหม่อนไหม ได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ขยายผลการดำเนินการส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหม ภายใต้โครงการคืนคนดีสู่สังคม ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งกรมหม่อนไหมได้มอบหมายให้สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ทุกเขต และศูนย์เครือข่ายทั่วประเทศ ขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่โดยบูรณาการร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจร ให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน ตั้งแต่การปลูกหม่อน ทั้งหม่อนใบและหม่อนผลสด การเลี้ยงไหม การสาวไหม การฟอกย้อมสี การออกแบบลวดลาย การทอผ้าไหม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหมที่หลากหลาย ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ปัจจุบันได้ดำเนินการในเรือนจำและทัณฑสถานไปแล้ว 16 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 23 แห่งในปี พ.ศ.2564

“ในส่วนของภาคเหนือจังหวัดลำปาง ลำพูนและเชียงใหม่ได้นำร่องจัดทำโมเดลภาคเหนือครบวงจร โดยเริ่มจากกระบวนการต้นน้ำ ดำเนินการโดยทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง คือ การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวเส้นไหม และเป็นศูนย์กลางกระจายเส้นไหมไปยังเรือนจำอื่นๆ ถัดมาคือกระบวนการกลางน้ำ ดำเนินการโดยเรือนจำจังหวัดลำพูน มีการจัดทำจุดเรียนรู้ด้านหม่อนไหม และฝึกอบรมทอผ้าไหมยกดอกลำพูนเพื่อให้ได้ 2 มาตรฐานได้แก่ ตรานกยูงพระราชทาน และ GI ผ้าไหมยกดอกลำพูน และสุดท้ายคือกระบวนการปลายน้ำ ดำเนินการโดยทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ มีการทอผ้าไหมยกดอกลำพูนให้ได้มาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน การออกแบบ/พัฒนาลวดลายผ้า และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าไหมรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับตลาด ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถผลิตผ้าไหมและได้รับการรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน จำนวน 680 เมตร อีกทั้งในอนาคตจะมีแผนส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม เช่น ชาใบหม่อน น้ำมัลเบอร์รี่ สบู่โปรตีนไหม และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามศักยภาพพื้นที่ต่อไป” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว

Related posts