ผบ.ทร. มอบนโยบาย หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ เตรียมความพร้อมการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2564

 

วันนี้ (1 มี.ค.64) พล.ร.ท.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า กองทัพเรือ ได้จัดให้มีการประชุมหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ โดยมี พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วยผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านดาวเทียม ณ อาคารสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีเรื่องสำคัญที่ชี้แจงและพิจารณาในการประชุม ดังนี้

1.ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 17 ของ พระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 มีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ เกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะ ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็น ผู้อำนวยการ ศรชล.

การดำเนินการที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการจัดโครงสร้าง การแบ่งส่วนงาน หน้าที่และอำนาจของส่วนงาน และอัตรากำลังของ ศรชล. จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,277 อัตรา ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีลักษณะแบบผสมผสาน จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยในส่วนของอัตรากำลังแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ จำนวน 902 อัตรา ประกอบด้วย กองทัพเรือ 652 อัตรา กรมเจ้าท่า 45 อัตรา กรมประมง 45 อัตรา กรมศุลกากร 45 อัตรา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 45 อัตรา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 23 อัตรา และตำรวจน้ำ 47 อัตรา เป็นโครงสร้างผสมรองรับการบริหารงานแบบบูรณาการ ที่มีเป้าหมายการดำเนินการร่วมกัน ทั้งในเชิงภารกิจและเชิงพื้นที่ มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ศรชล.

กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องข้างต้น ต้องจัดข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอัตราตามโครงสร้างของ ศรชล. โดยให้ “องค์กรกลางบริหารงานบุคคล” หรือองค์กรอื่นที่มีหน้าที่และอำนาจทำนองเดียวกันของหน่วยงานของรัฐนั้น ซึ่งในที่นี้หมายถึง “อ.ก.พ.ของแต่ละกระทรวง” และ “สภากลาโหม” จัดให้มีอัตรากำลังแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐนั้น ได้ตามความจำเป็น แต่ไม่เกินจำนวนอัตรากำลังที่จัดส่งไป โดยสามารถจัดเป็นรายอัตราหรือเป็นหน่วยก็ได้

ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน มีหนังสือที่ นร.1008/ว 6 ลง 6 สิงหาคม 2563 เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการกำหนดอัตรากำลังแทน สำหรับส่วนราชการที่ส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการรูปแบบเฉพาะ มีเนื้อหาสรุปได้คือ เป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานของรัฐ ต้องส่งข้าราชการไปปฏิบัติงานในส่วนราชการรูปแบบเฉพาะ และเมื่อส่งไปปฏิบัติงานแล้ว ให้มีอัตรากำลังมาทดแทนในตำแหน่งที่ว่างลงได้

กองทัพเรือ จึงได้เสนอขอความเห็นชอบ “กรอบอัตรากำลังแทนประจำกองทัพเรือ” จำนวน 652 อัตรา เพื่อจะส่งข้าราชการ ทร.ไปปฏิบัติงานใน ศรชล. ตามภารกิจหน้าที่ที่กำหนดใน พ.ร.บ.ศรชล. ดังกล่าว โดยได้เสนอเรื่องตามสายงานจนถึง สำนักนโยบายและแผนกลาโหม และนำเข้าสู่การพิจารณาของสภากลาโหม เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งสภากลาโหมมีมติเห็นชอบกรอบอัตรากำลังแทนของกองทัพเรือ เพื่อไปปฏิบัติงานใน ศรชล. จำนวน 652 อัตรา ตามที่เสนอ

สำหรับการบรรจุกำลังพลนั้น จะบรรจุกำลังพลจํานวน 423 อัตรา (ร้อยละ 65) ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป ส่วนอัตรากําลังที่เหลืออีก 229 อัตรา จะบรรจุเพิ่มตามความจําเป็น โดยไม่ให้กระทบต่อภารกิจและงบประมาณ ของ กองทัพเรือ และ กระทรวงกลาโหม

2.การประชาสัมพันธ์การรับสมัครนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของกองทัพเรือที่กำลังจะหมดเขตในวันที่ 22 มีนาคม 2564 ซึ่งคณะกรรมการจัดทำสารคดีและสื่อโทรทัศน์ กองทัพเรือ ได้ร่วมกับ โรงเรียนนายเรือ ผลิต CLIP และภาพประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ ทั้งของกองทัพเรือตลอดจนสื่อมวลชน ทั้งนี้ กองทัพเรือรับสมัครบุคคลพลเรือน เพื่อสอบคัดเลือกเป็นนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของกองทัพเรือ ประจำปีการศึกษา 2564 อายุระหว่าง 16 – 18 ปี วุฒิการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือเทียบเท่า เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 -31 ธันวาคม 2548 สมัครสอบทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ตั้งแต่วันนี้ ถึง 22 มีนาคม พ.ศ.2564 ที่เว็ปไซต์ http://www.admission-rtna.net

3.การเตรียมความพร้อม ในการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2564 โดยจะจัดให้มีการเปิดการฝึกกองทัพเรือ ในวันที่ 12 มีนาคม 2564 ณ สนามฝึกกองทัพเรือหมายเลข 15 หาดยาว ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็น ผู้อำนวยการการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2564

กองทัพเรือ ได้ตระหนักในหน้าที่หลัก ด้านการเตรียมความพร้อมของกำลังรบทางเรือ เพื่อการป้องกันประเทศ โดยการพัฒนากำลังพลและระบบยุทโธปกรณ์ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติการทางทหาร ในฐานะหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงทางทะเลของประเทศไทย ในการเตรียมกำลังให้เกิดความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศผ่านการฝึก

ทั้งนี้ กองทัพเรือได้กำหนดให้หน่วยกำลังรบในทุกระดับ ดำเนินการเตรียมความพร้อมในระดับหน่วยตามความเชี่ยวชาญเฉพาะของกิจที่ได้รับ จนถึงการบูรณาการกำลังขนาดใหญ่เข้าด้วยกัน เพื่อฝึกการปฏิบัติการภายใต้สถานการณ์การฝึกตามแผนป้องกันประเทศในแต่ละด้าน โดยกำหนดแนวคิดหลักอ้างอิงจากสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดไว้ในการฝึกกองทัพเรือประจำปี ซึ่งนอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมของกำลังรบในการปฏิบัติการแล้วการฝึกกองทัพเรือยังเป็นการทดสอบแผนการปฏิบัติ ระบบการควบคุมการบังคับบัญชา ระบบการสื่อสารและระบบการส่งกำลังบำรุงในภาพรวม ตลอดจนเป็นการทดสอบการปฏิบัติการร่วมระหว่างเหล่าทัพอีกด้วย

ในส่วนของการฝึกภาคสนามและภาคทะเลของการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2564 กำหนดจัดให้มีขึ้น ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม ถึง 9 เมษายน 2564 ในพื้นที่ทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ซึ่งกองทัพเรือ กำหนดให้มีรายการฝึกที่สำคัญคือ การฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น – สู่ – พื้น Harpoon Block 1C การฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การฝึกยิงตอร์ปิโดจากเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ โดยได้เชิญกองทัพบกและกองทัพอากาศ จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกตามรายการต่าง ๆ

ซึ่งกองทัพเรือได้ดำเนินการต่อเนื่องและได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกเหล่าทัพในทุกครั้ง ซึ่งจะทำให้ทราบถึงคุณลักษณะและขีดความสามารถของกำลังรบจากเหล่าทัพต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การวางแผนการใช้กำลังทางทหารและการปฏิบัติการรบร่วมที่มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลในการป้องกันประเทศในอนาคต ตามวิสัยทัศน์กองทัพไทยที่ “เป็นกองทัพชั้นนำในภูมิภาค มีนวัตกรรมทันสมัย ปฏิบัติการร่วมอย่างมีประสิทธิภาพทุกมิติ” และสร้างความสมัครสมานสามัคคี อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของกองทัพไทยในภาพรวม ตามคำขวัญของกองทัพเรือที่ว่า “พลังสามัคคี พลังราชนาวี”

Related posts