ก.ต.ตั้งผู้พิพากษาอีก 146 บัญชี – ชำนาญ งง “อนุรักษ์” ได้ไปต่อ นั่งปธ.แผนกคดีทุจริตฯ เล็งทำหนังสือถึงนายกฯ ตรวจสอบปมถูกร้องเรียนก่อนเสนอทูลเกล้าฯ
วันนี้ (18 ส.ค.64) ที่ห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกา สนามหลวง นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการครั้งที่ 22/2564 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบบัญชีโยกย้ายแต่งตั้งบัญชี 4ชั้น4 สับเปลี่ยนตำแหน่งระดับรองประธานศาลอุทธรณ์-ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 146 บัญชี โดยมีบัญชีรายชื่อที่น่าสนใจดังนี้
นายเชวง ชูศิริ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาพระโขนง ซึ่งเป็นศาลที่มีคดีฆาตกรรมนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจ เข้าสู่การพิจารณาคดี โดยศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิต พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ และอดีต รมช.พาณิชย์ อีกทั้งนายเชวง ยังเป็นอดีตเลขาธิการประธานศาลฎีกายุคนายชีพ จุลมนต์ ไปเป็นประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 1
นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ซึ่งถูกนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ยื่นค้านบัญชีดังกล่าวจากกรณีถูกร้องเรียนว่าได้หาเสียงเลือกตั้ง ก.ต.บุคคลภายนอกในไลน์สภาตุลาการ ทั้งที่มีหน้าที่เป็น ก.ต. ไปเป็นประธานแผนกคดีทุจริต และประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์โดยมีรายงานว่าที่ประชุม ก.ต.วันนี้ได้มีการพิจารณาความเหมาะสมว่าจะต้องส่งกลับไปยังอนุกรรมการตุลาการ (อกต.) เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติอีกหรือหรือไม่ โดย ก.ต.มีมติ 8 ต่อ 6 ไม่ส่งกลับ อกต. จากนั้นจึงพิจารณาว่าจะผ่านขึ้นตำแหน่งหรือไม่ปรากฎ ก.ต.เสียงข้างมาก 10 ต่อ 4 เสียงผ่านบัญชีขึ้นเป็นประธานแผนกคดีทุจริตฯในศาลอุทธรณ์
นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ไปเป็นหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1
โดยการประชุม ก.ต. ครั้งที่ 23 /2564 ต่อไปวันที่ 23 ส.ค.64
นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา กล่าวภายหลัง ทราบมติ ก.ต. เสียงข้างมาก แต่งตั้ง นายอนุรักษ์ ในเรื่องนี้ ส่วนตัว ยังคงมีข้อสงสัยในหลายประเด็น เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ของ ก.ต. เสียงข้างมาก ว่า ก่อนหน้านี้ ที่ตนเองเคยร้องเรียนให้มีการตรวจสอบ นายอนุรักษ์ ในประเด็น แชทไลน์หลุด ล็อบบี้การคัดเลือก ก.ต.บุคคลภายนอก เข้าข่ายความผิดหรือ มีมูลในการกระทำความผิดหรือไม่ แต่ตนเองทราบข้อมูลจาก ก.ต. บางท่านว่า ได้มีการสอบ หรือ อยู่ระหว่างการสอบแต่จะมีปัญหาตามมาในภายหลัง ว่าถ้ายังสอบไม่เสร็จ แล้วเหตุใดถึงล่าช้า เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องตรวจสอบ และแม้ว่ายังสอบไม่เสร็จก็ต้องส่งเรื่องไปให้อนุ ก.ต. ทำการตรวจสอบ แต่ปัญหาก็คือว่า วันนี้ได้มีการส่งเรื่องให้อนุ กต. ไปไต่สวนหรือไม่ มองว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่คงต้องดูรายงานการประชุมและเหตุผลของ ก.ต. แต่ละท่านก่อน ที่จะพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อ
นายชำนาญ ยังกล่าวต่อว่า แนวทางที่จะดำเนินการต่อจากนี้ คือ ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่จะต้องเป็นผู้นำความกราบบังคมทูล ว่า ก่อนที่จะนำความกราบบังคมทูล นั้น ควรตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน เพราะผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ได้กระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามที่ตนเองได้ยื่นร้องเรียนและคัดค้านไปหรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่จะต้องเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ก็ควรต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นตามข้อร้องเรียนหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ขณะนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ก.ต. ซึ่งคงไม่ถึงกับต้องมีการยุบ ก.ต. ไป แต่อาจจะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ โครงสร้าง ก.ต ในอนาคตต่อไป