“ปธ.ศาลฎีกา” มอบนโยบาย 4 ด้าน “ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย”

 

 

ประธานศาลฎีกา มอบนโยบาย 4 ด้าน “ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย” ลดการคุมขังตั้งแต่ชั้นจับกุม ให้ศาลเป็นที่พึ่งสำหรับประชาชนที่ซื้อขายทางออนไลน์ เน้นย้ำการพิจารณาคดีที่มีความปลอดภัยด้านสุขอนามัยให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด

 

นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า วันนี้ (19 พ.ย.64) เมื่อเวลา 10.00 น. นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารศาลยุติธรรม เพื่อมอบนโยบายประธานศาลฎีกา ปี 2564 – 2565 ผ่านระบบ Streaming แก่ผู้พิพากษาและข้าราชการศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อ ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย” (Easy Access to Justice) ทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้

 

  1. ส่งเสริมบทบาทศาลยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้หลักนิติธรรม

 

– ปรับปรุงกระบวนการในชั้นฝากขังและการปล่อยชั่วคราวให้เกิดการบูรณาการเพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น

 

– ยกระดับการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายให้เข้าถึงการได้รับการเยียวยาความเสียหายทุกมิติอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม

 

– พัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวและส่งเสริมการใช้มาตรการตามกฎหมาย เพื่อลดการเรียกหลักประกันควบคู่กับการสร้างความปลอดภัยให้สังคม

 

  1. สร้างหลักประกันการพิจารณาคดีที่ปลอดภัยด้านสุขอนามัย

 

– สนับสนุนมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยแก่ประชาชนและบุคลากรในการดำเนินคดีที่ศาล

 

– วางระบบการบริหารจัดการคดีให้สามารถดำเนินการเสร็จภายในมาตรฐานระยะเวลาที่กำหนดภายใต้ข้อจำกัดของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

– ส่งเสริมการใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกขั้นตอนของการดำเนินคดีสำหรับคู่ความที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี

 

  1. สร้างสรรค์ระบบงานให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

 

– ส่งเสริมการใช้กลไกการระงับข้อพิพาททางเลือกและการดำเนินคดีเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมถึงการบริโภควิถีใหม่และข้อพิพาทเฉพาะด้าน

 

– สร้างระบบนิเวศในการทำงานที่ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

 

– สนับสนุนบทบาทขององค์กรศาลยุติธรรมในการเป็นแหล่งความรู้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมการวิจัยเพื่อการพัฒนาองค์กรให้สอดรับกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลง

 

  1. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ ความก้าวหน้าและสุขภาวะที่ดีของบุคลากร

 

– สนับสนุนการศึกษาเรียนรู้ของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่

 

– ส่งเสริมให้บุคลากรมีโอกาสปฏิบัติงานตามความรู้ ความเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหลักประกันแก่ประชาชนในการได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีที่ถูกต้องและเป็นธรรม โดยมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างเป็นธรรมและทัดเทียม

 

– ยกระดับระบบการดูแลรักษาสุขภาพของบุคลากรเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ประธานศาลฎีกาได้เน้นย้ำนโยบายเรื่องลดการคุมขังโดยไม่จำเป็น ให้มีการบูรณาการข้อมูลตั้งแต่ชั้นการจับ (ออกหมายจับ) การฝากขัง การปล่อยชั่วคราว ที่จะสร้างสมดุลคุ้มครองทั้งผู้ต้องหาและผู้เสียหาย โดยนอกจากต้องใช้หลักเกณฑ์ตามกฎหมายแล้ว ควรต้องแสวงหาข้อมูลได้มากที่สุดเพื่อมาใช้ประเมินความเสี่ยงตั้งแต่ชั้นขอออกหมายจับจนถึงการพิจารณาขอปล่อยชั่วคราว โดยการปล่อยชั่วคราวที่ผ่านมาก็ได้นำระบบการประเมินความเสี่ยงและนำเรื่องการตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวไปใช้มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการปล่อยชั่วคราว แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมด้วย ซึ่งประธานศาลฎีกาในอดีตต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้เสมอมา และในส่วนของประธานศาลฎีกาท่านปัจจุบันก็จะทำให้มากขึ้นไปอีก

 

ส่วนการบูรณาการข้อมูลชั้นจับ-ฝากขังนั้น เราต้องเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ราชทัณฑ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ป.ป.ส. เป็นต้น หรืออาจเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการไต่สวนก็ได้ โดยจะต้องทำงานอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วน อันจะนำไปสู่การใช้ดุลยพินิจที่เหมาะสม

 

ขณะที่เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กลุ่มการซื้อขายสินค้าออนไลน์ มีการมอบหมายคณะทำงานดูแล อาจจะมีการเสนอจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายในศาลแพ่งในต้นปี 2565 เพื่อเป็นของขวัญให้แก่ผู้บริโภค อันนำไปสู่การสร้างความร่วมมือของหน่วยงานรัฐและเอกชน หรือกระทรวงดีอีเอสด้วย ในการให้ความรู้ผู้บริโภคเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าในอินเตอร์เน็ต

 

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำเร่งดำเนินการด้านการสร้างหลักประกันการพิจารณาคดีที่ปลอดภัยด้านสุขอนามัย เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยของประชาชนในการเดินทางมาศาล ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน อีกทั้งยังเร่งรัดพิจารณาพิพากษาคดีโดยอาจจะต้องอุทิศเวลาทำนอกเวลาราชการ เพื่อลดความคั่งค้างของคดีไปได้อย่างรวดเร็ว

 

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นโยบายประธานศาลฎีกาดังกล่าวมุ่งที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของศาลยุติธรรม ด้วยการทำให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนทุกคนเป็นไปอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ซึ่งถือเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของหลักนิติธรรม เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่า ความต้องการของประชาชน ต้องได้รับการตอบสนอง และสิทธิของประชาชน ต้องได้รับการคุ้มครอง”

Related posts