พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พร้อมด้วยคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริงของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี
การฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติการจริงของหน่วยกำลังรบประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและประสบการณ์ให้กับกำลังพล โดยมีจุดประสงค์เพื่อทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการและทดสอบความพร้อมทั้งด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวความคิดในการจัดฝึกที่ว่า “ฝึกฝนให้ชำนาญ เพื่อพร้อมปกป้องอธิปไตยให้น่านน้ำไทย”
สำหรับการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง จะทำการเข้าตี ยึดครอง รักษาที่หมายและสถาปนาเส้นแนวหัวหาดพร้อมทั้งสนับสนุนการเข้าตีด้วยการยิงอาวุธสนับสนุน ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) รวมถึงร้องขอการโจมตีเป้าหมาย High Value Targets จากกองทัพอากาศ ซึ่งได้จำลองสถานการณ์และพื้นที่การฝึก มาที่สนามฝึก กองทัพเรือหมายเลข 16 โดยมีกำลังพลเข้ารับการฝึกทั้งสิ้น 594 นาย แยกเป็น กำลังนาวิกโยธินจำนวน 400 นาย กำลังพลจาก กองการบินทหารเรือจำนวน 50 นาย กำลังหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานรักษาฝั่ง 60 นาย กำลังพลในส่วนของกองทัพบก จาก กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ จำนวน 72 นาย และกำลังพลจาก กรมปฏิบัติการพิเศษหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน กองทัพอากาศ 12 นาย
สำหรับอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการฝึก ในส่วนของกองทัพเรือประกอบด้วย ยานรบสะเทินน้ำสะเทินบกAAV 6 คัน ยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก VN16 3 คัน ยานเกราะล้อยาง BTR -3E1 จำนวน 5 คัน รถยนต์บรรทุกฮัมวี่ 4 คัน ปืนใหญ่สนามขนาด 155 มม. จากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยละ 2 กระบอก พร้อมด้วยระบบค้นหาเป้าหมายทางบก ซึ่งมีเรดาร์ตรวจการณ์ ARTHUR MOD – C เป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ใช้ในการระบุตำแหน่งฐานยิงอาวุธของฝ่ายตรงข้ามและตรวจตำบลกระสุนตก
– A560 ปืนใหญ่สนามขนาด 105 มม. 2 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 40/60 มม. 2 กระบอก อาวุธยิงสนับสนุนภายในอัตรากองพันทหารราบ ชุดแทรกซึมทางอากาศจากกองพันลาดตระเวน กองพลนาวิกโยธิน อากาศยานไร้คนขับแบบM SOLAR-X 1 ระบบ อากาศยานที่ร่วมการฝึก ประกอบด้วยเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลดอร์เนียร์ ในการส่งชุดแทรกซึมทางอากาศ เครื่องบินตรวจการณ์ชี้เป้าแบบ T-337 ในการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด Close Air Support (CAS ) และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ EC-645 ในการส่งกลับสายแพทย์
ในส่วนของกองทัพบก ได้จัดรถถังหลักแบบ T-84 (OPLOT ) จำนวน 5 คัน เข้าร่วมการฝึกในการดำเนินกลยุทธ์เข้าตีและยึดครองที่หมาย ในขณะที่กองทัพอากาศจัด เครื่องบินขับไล่ F-16 จำนวน 2 เครื่อง ในการขัดขวางกำลังเพิ่มเติมของฝ่ายตรงข้าม โดยชุดควบคุมอากาศยานโจมตี Combat Control Team จากกรมปฏิบัติการพิเศษหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน แนะนำการติดต่ออากาศยานเข้าพื้นที่การรบ
สำหรับผลที่ได้รับจากการฝึกในครั้งนี้ นอกจากกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกจะได้รับความรู้ความชำนาญเพิ่มขึ้นจากการฝึกแล้ว ยังทำให้กองทัพเรือได้รับทราบถึงขีดความสามารถและข้อจำกัดของกำลังพลที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันกับเหล่าทัพอื่น เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถสำหรับการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะในการป้องกันประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กล่าวให้โอวาทและให้กำลังใจแก่กำลังพลที่เข้ารับการฝึกโดยมีใจความสำคัญว่า “ทุกคนเหน็ดเหนื่อย ต้องฝึกให้เก่ง ภารกิจของของเรามีราคาแพงมาก คือคำว่าอธิปไตย เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งใจฝึกให้ดี ฝึกเน้นไปเรื่อย ๆ กองทัพเรือจะดูแลซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย แล้วก็ดูแลสวัสดิการพวกเราให้ดี”