สตง. หวั่นปัญหามลพิษทางน้ำส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขอนามัยของประชาชน

ล่าสุดสรุปภาพรวมผลการตรวจสอบการบริหารจัดการระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียของ อปท. พบการบริหารจัดการระบบส่วนใหญ่ยังไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ จึงมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขต่อไป

นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภายใต้นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่จากข้อมูลสรุปผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพบว่า มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมจำนวนหลายแห่ง โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยน้ำเสียที่ขาดการบำบัดก่อนระบายลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของน้ำเสียอย่างรวดเร็วและกลายเป็นปัญหามลพิษทางน้ำ ประกอบกับระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งไม่สามารถเปิดหรือเดินระบบได้ หรือเดินระบบได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและไม่ต่อเนื่อง สตง. จึงได้จัดทำรายงานภาพรวมจากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียของ อปท. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน จำนวน 15 จังหวัด ทั้งหมด 24 แห่ง รวมงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งสิ้น 5,463.94 ล้านบาท เพื่อให้ทราบถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียของ อปท. ตลอดจนปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดในการดำเนินงานเพื่อให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อไป โดยสรุปข้อตรวจพบที่สำคัญมีดังนี้

1. การบริหารจัดการระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียของ อปท. ส่วนใหญ่ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ จากการตรวจสอบพบว่าระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียของ อปท. บางแห่งไม่มีการใช้ประโยชน์ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ โดยมีทั้งกรณีหยุดเดินระบบถาวรเนื่องจากปัญหาการจ้างก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียในอดีตที่มีการปิดปากท่อรวบรวมไว้ซึ่งส่งผลให้น้ำเสียจากชุมชนไม่สามารถไหลเข้าระบบบำบัดได้ และกรณีหยุดเดินระบบชั่วคราวเนื่องจากอุปกรณ์/เครื่องสูบน้ำชำรุดเสียหายและไม่สามารถใช้งานได้ เป็นต้น ในขณะที่บางแห่งมีการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องแต่มีปริมาณน้ำเสียเข้าสู่ระบบน้อยกว่าความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย ทั้งที่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนใหญ่ได้เปิดเดินระบบมามากกว่า 20 ปี แล้ว รวมถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียของ อปท. บางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือชำรุดเสียหายจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

นอกจากนี้ ยังพบว่าระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียของ อปท. ไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบได้ทั้งหมด โดยในภาพรวมพบว่าสามารถให้บริการได้เพียงร้อยละ 22.01 ของพื้นที่ในเขตรับผิดชอบ เท่านั้น และประการสุดท้ายซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญคือ คุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบบำบัดน้ำเสียของ อปท. บางแห่งยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และไม่มีประสิทธิภาพในการลดค่าความสกปรกของน้ำเสียได้ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดหรือไม่ได้คุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานถูกระบายลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำและเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค อันจะทำให้เป็นภาระทางด้านสาธารณสุขของประเทศ อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนต่อหน่วยในการบำบัดน้ำเสียชุมชนสูงขึ้นด้วย

2. อปท. ไม่สามารถดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียเป็นไปตามหลัก ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP) จากการตรวจสอบพบว่า อปท. ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” กล่าวคือ ยังไม่มีการเตรียมความพร้อมในการกำหนดการจัดเก็บค่าบริการน้ำเสียไว้ในแผนพัฒนา 3 ปีของหน่วยงาน รวมทั้งยังไม่ดำเนินการประชาสัมพันธ์ ประชุมหรือชี้แจงให้ประชาชน สถานประกอบการ เจ้าของแหล่งกำเนิดน้ำเสียและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้เข้าใจถึงผลกระทบของปัญหาน้ำเสีย และความสำคัญของระบบบำบัดน้ำเสีย รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการจ่ายค่าบริการบำบัดน้ำเสียตามหลักการ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ตลอดจนการสอบถามความคิดเห็นและอัตราที่เหมาะสมในการจ่ายค่าบริการบำบัดน้ำเสีย จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนงบประมาณในการเดินระบบและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ และต้องนำงบประมาณส่วนอื่นมาใช้จ่าย ทำให้เสียโอกาสในการนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือพัฒนาด้านอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

นอกจากนี้ ยังไม่สามารถสร้างจิตสำนึกของประชาชนและเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษในการลดปริมาณการใช้น้ำได้ เนื่องจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียจะทำให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการลดหรือประหยัดการใช้น้ำประปาได้

3. อปท. ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเสียได้อย่างครบถ้วน จากการตรวจสอบพบว่า อปท. ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาน้ำเสียของ อปท. จากจุดกำเนิดแหล่งกำเนิดน้ำเสียผ่านกลไก “ประชารัฐ” (ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง) เพื่อช่วยลดปริมาณความสกปรกที่ระบายออกสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะในส่วนของการรณรงค์สร้างจิตสำนึกและความตระหนักแก่บ้านเรือนทุกครัวเรือน การสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ หรือเจ้าของแหล่งกำเนิดน้ำเสีย การรณรงค์ให้ชุมชนหรือสถานประกอบการในชุมชนเมืองมีการเชื่อมท่อระบายน้ำเสียเข้าสู่ระบบรวบรวม รวมถึงการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังคุณภาพน้ำเพื่อให้มีระบบเฝ้าติดตาม

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบการควบคุมและติดตามให้เจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามความมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 17 แห่ง พบว่า อปท. ทั้งหมดยังไม่สามารถควบคุมและติดตามให้เจ้าของแหล่งกาเนิดมลพิษปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามความมาตรา 80 ได้อย่างครบถ้วน เนื่องจาก อปท. ไม่มีการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษที่เข้าข่ายต้องดำเนินการตามกฎกระทรวงดังกล่าว รวมถึงมีการรายงานผลการรวบรวมรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย (แบบ ทส.2) ของผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำในพื้นที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และบางเดือนล่าช้า เป็นต้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่ขาดความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาน้ำเน่าเสีย รวมทั้งไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียของ อปท. จึงไม่สามารถป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียที่ต้นทางของครัวเรือนในชุมชนได้ ส่งผลให้น้ำเสียบางส่วนที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียถูกระบายออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

4. อปท. ที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ขาดการเตรียมความพร้อมในการก่อสร้าง จากการตรวจสอบพบว่า อปท. ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าพื้นที่ในเขตรับผิดชอบของตนเองเป็นเป้าหมายในการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน ทั้งที่มีหลายแห่งที่กำลังประสบปัญหามลพิษทางน้ำและได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาน้ำเน่าเสียและการปล่อยน้ำเน่าเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะจากประชาชนในพื้นที่ และที่สำคัญคือ อปท. ทุกแห่งยังขาดการเตรียมความพร้อมและขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำเอกสารขอรับจัดสรรงบประมาณการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสีย รวมถึงขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการจัดทำเอกสารเพื่อเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณ เช่น เอกสารข้อเสนอโครงการ (TOR) การศึกษาความเหมาะสม (FS) การสำรวจและออกแบบรายละเอียด (DD) การขออนุญาตใช้ที่ดิน ฯลฯ จากข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้ อปท. ขาดโอกาสในการได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียในชุมชน และหากได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาจเกิดปัญหาการก่อสร้างล่าช้า หรือยกเลิกโครงการได้ ดังเช่นกรณีของ อปท. แห่งหนึ่งที่จำเป็นต้องระงับการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เนื่องจากไม่สามารถส่งมอบที่สาธารณประโยชน์เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างให้กับผู้รับจ้างได้

จากผลการตรวจสอบข้างต้น สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่กำกับดูแลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไข อาทิ ให้มีการประเมินผลการดำเนินงานระบบบำบัดน้ำเสียรวมทั้งประเทศที่มีการจัดสร้างไปแล้ว เพื่อศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนและแก้ไขปัญหาให้ อปท. สามารถดูแลบำรุงรักษาระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ และคุณภาพน้ำทิ้งเป็นไปตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งที่กำหนด ให้พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการจัดระบบให้ อปท. มีการจัดเก็บค่าบริการน้ำเสียเพื่อให้มีรายได้เพียงพอมาใช้ในการดูแล บำรุงรักษา และขยายพื้นที่ให้บริการบำบัดน้าเสีย และผลักดันให้มีการจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นรูปธรรมโดยนำหลักการ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย มาใช้ปฏิบัติ และพิจารณาถึงความเต็มใจจ่าย รวมถึงความสามารถในการจ่ายของผู้ใช้บริการ ระดับรายได้ และการกระจายรายได้ของกลุ่มผู้ใช้บริการในแต่ละท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชน แจ้งให้ผู้บริหารของ อปท. ให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนบริหารจัดการระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสีย เช่น แผนงบประมาณการเดินระบบและบำรุงรักษา และแผนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน รวมถึงให้จัดทำฐานข้อมูลการบริหารจัดการน้ำเสีย เช่น ข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำ ปริมาณการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดประเภทชุมชน ประสิทธิภาพของระบบบำบัด คุณภาพน้ำทิ้ง จำนวนครัวเรือนที่ต่อเชื่อมท่อน้ำทิ้ง ฯลฯ

Related posts