บสย. จัดกิจกรรม “TCG Stakeholders Day 2024 : ความเห็นของท่านสำคัญกับ บสย.” ประจำปี 2567 ถ่ายทอดบทบาท พันธกิจ ต่อยอดความสำเร็จสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ 4Ps + 1D ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปี 2567-2571 สู่เป้าหมาย “SMEs’ Gateway” ด้านกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชื่นชมการทำงาน บทบาท ภารกิจ และการบูรณาการความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ ควบคู่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดประชุม “TCG Stakeholders Day 2024 : ความเห็นของท่านสำคัญกับ บสย.” เชิญ 71 หน่วยงาน 9 กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่า 200 คน ประกอบด้วย 1. ลูกค้าและผู้ประกอบการ 2. คู่ค้า/สถาบันการเงิน 3. ผู้กำหนดนโยบายและงบประมาณ 4. ผู้ถือหุ้น 5. พันธมิตรและคู่ความร่วมมือ 6. ผู้ส่งมอบ 7. สื่อมวลชน 8. ชุมชน/สังคม 9. บุคลากร บสย. ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ถ่ายทอดความสำเร็จการดำเนินพันธกิจ บทบาท และภารกิจของ บสย. พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น เสนอแนะ เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ บสย. อย่างเป็นระบบ
นับตั้งแต่เปิด บสย. เข้าสู่ปีที่ 33 โดยมี SMEs ที่ได้รับการช่วยเหลือจาก บสย. ก่อนสถานการณ์โควิด-19 (ตั้งแต่เปิด บสย. ถึงปี 2562) จำนวน 4.1 แสนราย เทียบกับหลังสถานการณ์โควิด-19 (2563 – เม.ย. 2567) เพิ่มขึ้นอีก 4.3 แสนราย คิดเป็น SMEs ที่ได้รับการช่วยเหลือจาก บสย. รวมกว่า 8 แสนราย หรือราว 51% ของลูกค้าสะสมทั้งหมด โดยค่าเฉลี่ยยอดค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ในช่วง Pre-Covid จำนวน 87,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 2.45 แสนล้านบาท และมีผลดำเนินงานสะสม ณ เม.ย. 2567 วงเงินอนุมัติค้ำประกันเท่ากับ 1,509,729 ล้านบาท ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบถึง 1,975,389 ล้านบาท (คิดเป็น 1.31 เท่า ของการค้ำประกันฯ) ช่วยผู้ประกอบการ SMEs สะสม ถึง 847,938 ราย (สัดส่วน Micro 80% : Non-Micro 20%)
ทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรในปี 2567 บสย. ภายใต้ค่านิยม TCG Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs และวิสัยทัศน์ สู่การเป็นตัวกลาง Gateway เชื่อมโยง SMEs และ สถาบันการเงิน และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) “เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเงินทุนและโอกาสให้แก่ SMEs เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน (SMEs’ Gateway)” มุ่งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนกลยุทธ์ 4P + 1D คือ Product Partnership Platform Planet และ Debt Management ควบคู่กับการดำเนินพันธกิจ (Mission) 5 ด้าน ได้แก่ 1. พัฒนาศักยภาพ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และองค์ความรู้ทั้งระบบ 2. ผลักดัน SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยนวัตกรรมทางการเงิน 3. เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจครบวงจรสำหรับ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย 4. ยกระดับขีดความสามารถองค์กรเพื่อการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากอย่างบูรณาการ และ 5. ส่งเสริมการดำเนินงานที่โปร่งใสในทุกระดับองค์กรอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมุ่งยกระดับการพัฒนาผ่าน 8 โครงการสำคัญ ที่สามารถติดตามดำเนินงานและนำเสนอผู้บริหารระดับสูงและแสดงข้อคิดเห็นต่อการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับ และบูรณาการบทบาทของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ด้านการกำกับดูแลองค์กรตามหลักเกณฑ์ Enablers ด้าน 1 การกำกับดูแลการดำเนินงานที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ 2. โครงการส่งเสริมความรู้ให้กับผู้ประกอบการ (Financial Literacy) 3. โครงการศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs 4. โครงการพัฒนาการบุคลากรรองรับการขยายบทบาทการให้บริการ 5. โครงการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามมาตรฐานสากล 6. โครงการเพิ่มประสิทธิผลการเก็บหนี้ 7. โครงการกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมและชุมชน และ 8. โครงการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การประชุม “TCG Stakeholders Day 2024 : ความเห็นของท่านสำคัญกับ บสย.” ในปีนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ชื่นชมการทำหน้าที่ และบทบาทของ บสย. ในทุกมิติทั้งด้านการค้ำประกันสินเชื่อ การให้คำปรึกษาทางการเงิน การให้ความรู้ทางการเงิน การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ร่วมขับเคลื่อน SMEs ก้าวทะยานสู่ความแข็งแกร่ง อาทิ โครงการ “สนั่นสิทธิ์” ร่วมกับ หอการค้าแห่งประเทศไทย โครงการ “ติดปีก SMEs หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อม ค้ำประกันให้” ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ถึง 22 โครงการ ที่สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้มากกว่า 5,000 ราย เป็นวงเงินกว่า 18,000 ล้านบาท โครงการ S1 ร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โครงการร่วมกับธนาคารทิสโก้ ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneurs ช่วย SMEs รายย่อยราว 56,000 ราย ได้รับสินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ ขณะที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการให้ บสย. เร่งให้ความช่วยเหลือ SMEs ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อรายให้มากกว่าในปัจจุบัน
ขณะที่ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย แนะนำว่า หากมีการนำเครื่องมือมาใช้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต ที่สะท้อนระดับความเสี่ยงของ SMEs แต่ละรายจะทำให้ บสย. สามารถกำหนดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายได้ เนื่องจาก SMEs แต่ละรายมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน พร้อมแนะนำให้ บสย. เดินหน้าสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs ในรูปแบบที่หลากหลายและเหมาะกับธุรกิจแต่ละกลุ่มมากขึ้น ด้านผู้ประกอบการ SMEs ลูกค้า บสย. ได้ชื่นชม บสย. ที่ได้ให้คำแนะนำการเข้าถึงสินเชื่อและช่วยค้ำประกันสินเชื่อ โดยต้องการให้ บสย. พัฒนาโครงการความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อสามารถช่วยเหลือ SMEs ได้อย่างครอบคลุมในทุก ๆ กลุ่ม